โควิด-19กดดันคนรุ่นใหม่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง
EIC วิเคราะห์คนรุ่นใหม่(อายุ 15-24 ปี) หรือ Generation Z มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์การถูกเลิกจ้างของแรงงานในช่วงวิกฤติCOVID-19 โดยระบุว่า มาตรการปิดเมืองของหลายประเทศส่งผลกระทบต่อแรงงานเป็นวงกว้าง แต่คนรุ่นใหม่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ซึ่งรวมถึงมาตรการปิดเมือง (lockdown) ทำให้กิจกรรมหลายประเภทที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคต้องปิดตัวลงชั่วคราว โดยมาตรการดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจนทำให้เศรษฐกิจโลกน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2020
สำหรับผลกระทบต่อตลาดแรงงาน พบว่าแรงงานบางส่วนต้องถูกเลิกจ้างหรือถูกลดค่าแรงในช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19 ซึ่งวิกฤติครั้งนี้ส่งต่อตลาดแรงงานเป็นวงกว้างและรุนแรงกว่าวิกฤติการเงินในปี 2008 โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุ 15-24 ปี) หรือ Generation Z ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ไม่นานถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะถูกเลิกจ้างและหางานใหม่ได้ยากในช่วงวิกฤติ ซึ่งผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในช่วงเวลาวิกฤติเท่านั้นแต่ยังส่งผลข้างเคียงต่อเนื่องไปถึงระยะยาวผ่านรายได้ที่ลดลงกว่าคนรุ่นก่อน โดยจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านๆมาแสดงให้เห็นว่าผู้ที่จบการศึกษาในช่วงเวลาวิกฤติอาจต้องประสบกับรายได้ที่ลดลงยาวนานสูงถึง 10 ปี1 ทำให้เกิดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้ใหญ่รุ่นก่อนเพิ่มขึ้น ประกอบกับความท้าทายของตลาดแรงงานในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งจะเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานที่มีอยู่เดิม ยิ่งซ้ำเติมแรงงานคนรุ่นใหม่ในอนาคตอีก
ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงได้รับผลกระทบในตลาดแรงงานมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ ?
วิกฤติ COVID-19 สร้างอุปสรรคให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานยากกว่าเดิม ในช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 (ปี 2019) อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆอยู่แล้ว โดยอัตราการว่างงานของคนกลุ่มอายุ 15-24 ปีอยู่ที่ 13.6% เทียบกับอัตราการว่างงานของคนอายุ 25 ปีขึ้นไปอยู่ที่เพียง 4% จนกระทั่งเกิดวิกฤติ COVID-19 ได้เข้ามาซ้ำเติมผลกระทบของตลาดแรงงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก สะท้อนจากผลสำรวจแรงงานคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน (อายุ 18-29 ปี) ทั่วโลกของข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่สำรวจในเดือนพฤษภาคมพบว่า 17.1% ของผู้ตอบแบบสำรวจถูกให้หยุดทำงานเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 (รูปที่ 1 ซ้ายมือ) โดยวิกฤติ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานคนรุ่นใหม่ผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้
1) สร้างอุปสรรคในการเรียนรู้และการฝึกงาน มาตรการปิดเมืองทั่วโลกทำให้ต้องปิดสถาบันการศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั่วคราว รวมถึงยกเลิกการเรียนรู้จากการทำงาน เช่น การฝึกงาน เป็นต้น แม้บางส่วนสามารถปรับตัวโดยเปลี่ยนไปใช้ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ได้ แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ครอบคลุม ขณะเดียวกันครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ และแม้ว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอุปกรณ์การเรียนพร้อม แต่ผู้เรียนและผู้สอนบางส่วนยังขาดทักษะด้านดิจิทัล ปัจจัยเหล่านี้สร้างอุปสรรคต่อการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้พบว่าในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (low income) มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่สามารถปรับตัวมาใช้รูปแบบการเรียนรู้ออนไลน์ได้สำเร็จ และเกินครึ่งไม่ได้มีแผนสำรองสำหรับการเรียนรู้ในช่วงปิดสถาบันการศึกษา2 ทำให้ช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์หรือระบบทางไกลอาจขาดทักษะและความรู้สำหรับตำแหน่งงานที่ดีในอนาคตได้
2) ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซานำไปสู่ความเสี่ยงถูกปลดออกจากงาน ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทและผู้ประกอบหลายรายโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) จำเป็นต้องลดเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงาน หรืออาจถึงขั้นลดจำนวนพนักงานลง เพื่อรักษาสภาพคล่องและประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด โดยตำแหน่งงานระดับล่างซึ่งเป็นงานสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดแรงงานมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงที่สุด ประกอบกับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงจากวิกฤติ COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาริมทรัพย์ และที่พักแรมและบริการด้านอาหาร มีจำนวนแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่กระจุกตัวสูงถึง 41.7% ของแรงงานคนรุ่นใหม่ทั้งหมด (รูปที่ 1 ขวามือ) ซึ่งสูงกว่ากลุ่มแรงงานกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไปที่มีเพียง 35% ของทั้งหมด ทำให้คนรุ่นใหม่มีความเสี่ยงถูกปลดออกจากงานมากกว่าผู้ใหญ่รุ่นก่อนหน้า สะท้อนจากอัตราการว่างงานในปี 2020 ของหลายประเทศทั่วโลกในกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ เช่น สหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน 2020 ในกลุ่มผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น 9 ppt ขณะที่กลุ่มคนอายุ 15-24 ปีเพิ่มสูงถึง 17.2 ppt
3) ตำแหน่งงานที่ลดลงเพิ่มอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือย้ายงานของคนรุ่นใหม่ หลังวิกฤติ COVID-19 คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในปี 2020 และกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นเนื่องจากปริมาณงานโดยรวมลดลงจากช่วงวิกฤติ โดยคนรุ่นใหม่เสียเปรียบแรงงานกลุ่มอายุอื่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานหรือมีประสบการณ์การทำงานต่ำ งานที่มีโอกาสทำได้จึงเป็นตำแหน่งระดับล่าง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องแข่งขันกับผู้หางานทำที่มีประสบการณ์สูงกว่าที่ไม่สามารถหางานในระดับเดิมได้และยอมลดตำแหน่งมาทำในระดับที่ต่ำกว่า กดดันให้แรงงานกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยากมากขึ้น จนเกิดผลกระทบระยะยาว (scarring effect) กับแรงงานคนรุ่นใหม่ที่อาจได้งานที่มีรายได้น้อยและไม่สอดคล้องกับพื้นฐานการศึกษาของพวกเขา
COVID-19 ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณภาพและปริมาณตำแหน่งงานลดลง แต่ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่มีอยู่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทั่วโลก เนื่องจากปกติแรงงานคนรุ่นใหม่อายุ 15-24 ปีมีรายได้ต่ำกว่าแรงงานผู้ใหญ่ที่อายุ 25 ปีขึ้นไป และคนรุ่นใหม่ยังมีการออมที่ต่ำกว่าจึงมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงรายได้สูง โดย ILO วิเคราะห์รายได้แรงงานของ 64 ประเทศ พบว่าแรงงานผู้ใหญ่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มแรงงานคนรุ่นใหม่ถึง 71% และวิกฤติ COVID-19 อาจทำให้ช่องว่างความแตกต่างของรายได้ระหว่าง generation ห่างออกไปอีก