ธสน.ยอมขาดทุนกำไร หนุนผู้ส่งออกลุยงานและจ้างคน
EXIM BANK แจงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 63 ชี้มุ่งขยายสินเชื่อและพักชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในภาวะโควิด-19 เผยยอมขาดทุนกำไร หลังมุ่งเน้นช่วยและพยุงผู้ส่งออกไทยให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด-19 ยอมรับกำไรเหลือ 107 ล้านบาท ลดลง 67.98% จากไตรมาส 1 ปี 62 แต่หนุนให้ผู้ประกอบการคงการจ้างงานได้มากถึง 3.4 แสนคน แถมมีสินเชื่อคงค้างสูงกว่า 1.26 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉียด 2 หมื่นล้านบาท
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กก.ผจก. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน. หรือ EXIM BANK) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2563 ว่า แม้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงในไตรมาสดังกล่าว แต่ธนาคารฯยืนหยัดเป็นที่พึ่งให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านการสนับสนุนสินเชื่อและบริการประกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อคงค้าง 126,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,794 ล้านบาท หรือ 18.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 37,028 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 89,109 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 46,759 ล้านบาท ซึ่งจากจำนวน 126,137 ล้านบาท เป็นเงินสินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 28,567 ล้านบาท เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 26,669 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 57.04%
ส่วนอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2563 อยู่ที่ 4.86% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 6,132 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 11,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,881 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย 8,103 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 142.06% ทำให้ธนาคารฯยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
ด้านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการค้าและการลงทุนไปต่างประเทศ ในปี 2563 ธนาคารฯมีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 83,880 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 51,541 ล้านบาท จากจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างให้แก่โครงการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวแต่ยังคงเป็นประเทศเป้าหมายหลักของการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย จำนวน 34,242 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,870 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ธนาคารฯ เป็นสถาบันการเงินไทยรายเดียวในประเทศ ที่มีบริการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่การค้าการลงทุนชะงักงันทั่วโลก ยิ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ รวมทั้งนักลงทุนไทย ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 ธนาคารฯมีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 36,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,965 ล้านบาท หรือ 42.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 1,356 ล้านบาท หรือ 3.70% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม
จากผลการดำเนินงานด้านสินเชื่อและประกันข้างต้น แม้ว่า ณ สิ้นเดือน มี.ค. ธนาคารฯมีกำไรสุทธิ 107 ล้านบาท ลดลง 67.98% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 334 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยขั้นต่ำ สำหรับเงินกู้สกุลบาท (Prime Rate) เพื่อช่วยผู้ประกอบการ แต่ธนาคารฯได้มีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยและช่วยเหลือประชาชนภายใต้วิกฤตการณ์ในปัจจุบัน ด้วยการสนับสนุนการจ้างงานของสถานประกอบการทุกขนาดรวมกว่า 340,000 คน
“ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา EXIM BANK เน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ ติดต่อไปยังลูกค้าทุกรายเพื่อสอบถามความต้องการความช่วยเหลือ พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจและรักษาการจ้างงานของกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุนระหว่างประเทศตามภารกิจของ EXIM BANK เป็นจำนวนกว่า 3,600 ราย หรือประมาณ 10% ของผู้ส่งออก SMEs ทั้งประเทศ วงเงินรวม 48,300 ล้านบาท รวมทั้งเปิดคลินิกให้คำปรึกษาและจัดโครงการอบรมออนไลน์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนในซัพพลายเชนการส่งออกสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” นายพิศิษฐ์ ระบุ.