TMB กำไรทะลุเป้า 4,760 ล้านบาท ไตรมาส 1 ปี 63
ทีเอ็มบีแจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4,760ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 91% จากไตรมาส 4/2562 และ 160% จากไตรมาส 1/2562 หลังซื้อหุ้นธนาคารธนชาตไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทย่อย แจ้งผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งยังมีการรับรู้รายได้จากธนาคารธนชาตเข้ามาเต็มไตรมาสหลังเสร็จสิ้นการซื้อหุ้นธนาคารธนชาตไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9,862 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 91% จากไตรมาส 4/2562 และ 160% จากไตรมาส 1/2562 ตามลำดับ การตั้งสำรองฯ ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 4,760 ล้านบาท ซึ่งหลังหักสำรองและภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% จากไตรมาสก่อนและ 164% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การรวมกิจการกับธนาคารธนชาตนั้นได้ช่วยปลดข้อจำกัดด้านขนาดของทีเอ็มบีออกไป โดยปัจจุบันขนาดสินทรัพย์ เงินฝาก และสินเชื่อเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า ดังนั้น เป้าหมายในปี 2563 นี้ หลังการรวมกัน ธนาคารก็ได้เริ่มปรับโครงสร้างงบดุลใหม่ในทันที โดยในส่วนของเงินฝาก มีแผนการปรับโครงสร้างด้วยการปรับลดสัดส่วนเงินฝากประจำและแทนที่ด้วยเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เงินฝาก All Free และเงินฝาก No Fixed ซึ่งในไตรมาส 1 ก็ทำได้ตามเป้าหมายและทำให้ยอดเงินฝากรวมอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า
ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% จากไตรมาสก่อน หนุนโดยกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารที่เน้นเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ทำให้ในปัจจุบันกว่า 90% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน
การปรับโครงสร้างดังกล่าวส่งผลให้เกิดผลประโยชน์ด้านงบดุล สะท้อนได้จากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยหรือ NIM ที่ปรับตัวดี ขึ้นมาอยู่ 3.12% เทียบกับ 2.69% ในไตรมาส 4/2562 และ 2.89% ในไตรมาส 1/2562 ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 14,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% จากไตรมาสก่อน (QoQ) และ 125% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว (YoY) เมื่อรวมกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจำนวน 4,182 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 18,195 ล้านบาท
ในส่วนของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่ 8,331 ล้านบาท โดยธนาคารเริ่มรับรู้ผลประโยชน์ด้านต้นทุนแล้วเช่นกัน เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ทับซ้อนกันลงได้ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และค่าใช้จ่ายด้านระบบไอที เป็นต้น ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 46% เทียบกับระดับ 51%-55% ก่อนการรวมกิจการ โดยมองว่าในปีนี้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 48%-50%
หลังหักสำรองฯ และภาษี กำไรสุทธิอยู่ที่ 4,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% จากไตรมาสก่อน และ 164% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้านความเพียงพอของเงินกองทุนยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราส่วน CAR และ Tier I กรอบประมาณการณ์เบื้องต้นอยู่ที่ 18.8% และ 14.5% ซึ่งยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ.