EIC ปรับ GDP ไทยปี 2020 เป็น –5.6% ต่ำสุดนับต้มยำกุ้งปี 1998
EIC SCB ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 2020 เป็นหดตัวที่ -5.6% จากคาดการณ์เดิมที่ -0.3% โดยมีสาเหตุหลักจากพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 4 ข้อ ได้แก่
1) เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการหยุดลงแบบฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (sudden stop) เป็นผลจากปัญหา Covid-19 และมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวมากที่ -12.9% ในปีนี้
2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มจะลดลงมากและฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยจะลดมาอยู่ที่ 13.1 ล้านคนในปีนี้ หรือหดตัวที่ -67% จากปีก่อนหน้า เป็นผลจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนและการรักษาโรคที่ได้ผล และจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้
3) การประกาศปิดเมืองในหลายส่วนของไทย ซึ่งแม้เป็นกลยุทธ์
ที่จำเป็นในการควบคุมการระบาดของโรค แต่จะส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการของภาคครัวเรือนโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบที่เพิ่มเติมจากความกังวลของผู้บริโภคต่อธุรกรรมที่มีลักษณะ face-to-face ในช่วงโรคระบาดอยู่แล้ว และ
4) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่คาดว่าจะมีออกมาเพิ่มเติม จะมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทย โดย EIC ได้เพิ่มสมมติฐานของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการออก พรก. กู้ฉุกเฉิน จำนวน 200,000 ล้านบาทไว้ในการประมาณรอบนี้ด้วย
ดร.ยรรยง ไทยเจริญรองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center
ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน คาดการณ์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของหลายประเทศ ทำให้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีแนวโน้มหดตัวที่ -2.1% ในปี 2020 ต่ำกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 จากผลกระทบของการระบาด COVID-19 ต่อเศรษฐกิจโลกมีมากกว่าคาด สะท้อนจากข้อมูลเร็วอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ลดลงเหลือ 40.5, 31.4 และ 35.8 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 นอกจากนี้ มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของหลายประเทศ ยังส่งผลโดยตรงต่อการหยุดชะงักอย่างฉับพลันของกิจกรรมเศรษฐกิจ (sudden stop) ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น EIC จึงประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะถดถอย (global recession) โดยจะหดตัวที่ -2.1%
ทั้งนี้ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกประกอบกับปัญหาด้าน supply disruption ที่จะมีเพิ่มขึ้น จากการหยุดชะงักด้านการผลิตของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันในตลาดโลก จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย โดย EIC ได้ปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2020 เป็นหดตัวที่ -12.9% จากเดิมที่คาดไว้ที่ -5.8%
ด้านสถานการณ์ท่องเที่ยว EIC ได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2020 ลดลงเหลือเพียง 13.1 ล้านคน (เดิมคาด 27.7 ล้านคน) หรือหดตัว -67% จากปีก่อน โดยเป็นผลจากมาตรการปิดประเทศของประเทศต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ประกอบกับความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศทำให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่าน 5 สนามบินหลัก (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่) ในช่วงวันที่ 1-28 มีนาคม 2020 หดตัวที่ -78%YOY และในช่วง 1-2 วันล่าสุดหดตัวเกือบ 100%YOY
เมื่อมองไปข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปี EIC ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะหดตัวรุนแรงที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศส่วนใหญ่จะมีมาตรการปิดประเทศอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของโรค และแม้หลังจากนั้น มาตรการอาจเริ่มถูกผ่อนคลายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาโรคที่ได้ผล ประกอบกับรายได้ของนักท่องเที่ยวที่จะลดลงตามภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก จะทำให้การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยคาดว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือนธันวาคมจะกลับมาได้เพียงประมาณ 50% ของเดือนธันวาคมปีที่แล้ว.