CIMB THAIเร่งยับยั้งก่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เฟส 4
สำนักวิจัย CIMB THAI ปรับคาดการณ์ GDP ติดลบ 6.4%-เสนอเร่งหาทางยับยั้งก่อนศก.ไทยเข้าสู่เฟส 4
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทยจากเดิมขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว 6.4% ตามภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ภาวะการถดถอยนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายไปอีก เศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะวิกฤติตามเศรษฐกิจโลก และอย่าลืมว่า เศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงเติบโตช้าก่อนหน้าไวรัสระบาด จากปัญหาสงครามการค้า ภัยแล้ง และงบประมาณที่ล่าช้า คำถามคือ ไทยอยู่ห่างจากช่วงวิกฤติมากน้อยเพียงไร อยู่เฟสไหนในช่วงวิกฤตินี้ และจะหนีพ้นวิกฤติไปได้อย่างไร
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์การเร่งยับยั้งก่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสูเฟส 4วิกฤติมักยากที่จะคาดเดา แต่มักลงเอยที่ภาคการเงินแล้วส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจอื่นๆ หยุดชะงัก เราคาดว่าหากปัญหาไวรัสระบาดลากยาว เศรษฐกิจจะทรุดหนักจนเกิดวิกฤติขึ้นมา

วิกฤติจะเกิดผ่านปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ หรือ credit crisis กล่าวคือ กลุ่มภาคธุรกิจที่มีปัญหาหนี้สูงและเป็นกลุ่มที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน หรือ non-investment grade หรือ high yield จะเป็นกลุ่มที่อาจผิดนัดชำระหนี้และอาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบตลาดเงินและตลาดทุน จนเกิดการลามไปสู่การไถ่ถอนตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้บริษัทเอกชน หรือ corporate bond ในกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือดีหรือไม่ได้รับปัญหาทางเศรษฐกิจมากจนบริษัทไม่มีเงินชำระหนี้
อย่าลืมว่าด้วยปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันจากพิษไวรัสที่ยอดขายตก หลายธุรกิจปิดตัวลงชั่วคราวได้ยิ่งซ้ำเติมปัญหาสภาพคล่อง แม้วันนี้ทางหน่วยงานกำกับดูแลตลาดเงินตลาดทุนได้ออกมาตรการมาประคองตลาดและสร้างความเชื่อมั่น แต่หากกลุ่มที่เสี่ยงล้มแล้วเกิดอาการลามดึงกลุ่มที่ดีๆ มีความเสี่ยงตามไปด้วย ธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือดีเพียงแต่ขาดเงินสดก็อาจประสบปัญหาได้จากภาวะความตกใจของตลาด หรือเมื่อภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ก็อาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ
เสนอ 3 แนวทาง ยื้อเวลาให้เศรษฐกิจไทย ประคองตัวได้หรืออาจพลิกให้เรากลับมาแข็งแกร่งในครึ่งปีหลัง
1. นโยบายการเงินต้องผ่อนปรนและคิดนอกกรอบ 2. นโยบายการคลังต้องรวดเร็วและทั่วถึง 3. คนไทยทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว.