BAYคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 32.45-32.95
กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 32.45-32.95 มองตลาดเงินยังผันผวน สถานการณ์ COVID-19 มีความไม่แน่นอนสูง
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.45-32.95 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.59 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 เดือนครั้งใหม่ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4-2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 8.0 พันล้านบาท และ 1.31 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ สำหรับตลาดพันธบัตรไทยในภาพรวมกลับเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้น ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบทุกสกุลเงินสำคัญ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวยอมรับว่าเศรษฐกิจอาจอยู่ในภาวะถดถอยและระยะเวลาการพลิกฟื้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นหลัก ส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 2.2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 สำหรับทุกภาคส่วน
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่าตลาดจะให้ความสนใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีภาคการผลิต และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค เรามองว่าตัวเลขล่าสุดซึ่งบ่งชี้ว่ายอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดนั้นเป็นปฐมบทของตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศออกมานับจากนี้ซึ่งจะเริ่มสะท้อนความเสียหายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ขณะที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ยังอยู่ในระดับสูงและจะส่งผลให้ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนต่อไปในระยะนี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การประเมินภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงเนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกถูกฉุดรั้งจากการระบาดของไวรัส การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตกระทบการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กนง.ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2563 เป็นหดตัวมากถึง 5.3% คาดมูลค่าส่งออกติดลบ 8.8% และคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 1% โดยกนง.สนับสนุนการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและเห็นว่ามาตรการด้านการคลังควรเป็นกลไกหลักในการประคองเศรษฐกิจ เราคาดว่ายังมีโอกาสสูงที่กนง.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.50% ในไตรมาส 2/2563 ควบคู่กับมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดมากขึ้นเนื่องจากกระสุนและประสิทธิผลของเครื่องมือดอกเบี้ยกำลังถึงทางตัน.