TQM รุก CMLV ตั้งเป้าเป็นโบรกฯอาเซียน
TQM ตั้งเป้ารุก CMLV เต็มรูปแบบ ดึง “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ดันสู่ Digital Insurance Broker in Region ตั้งเป้ายอดขายเบี้ยประกัน 5 ปี ทะยาน 5 หมื่นล้านบาท เผยตัวเลขกำไรปี’62 พุ่งกว่า 507 ล้านบาท พร้อมจ่ายเงินปันผล 1.10 บาทต่อหุ้น ดีเดย์จ่าย 14 พ.ค.นี้
นายอัญชลิน พรรณนิภา ปธ. บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) กล่าวถึงการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาว่า เป็นปีที่เติบโตจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยและประกันชีวิต รวมถึงการให้บริการด้านต่างๆ ในทุกช่องทาง ตอบโจทย์ของลูกค้าได้หลากหลายและตรงจุด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ
จากความสำเร็จในการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ ผ่านโครงการทรานส์ฟอร์ม ทำให้ TQM ได้นำขีดความสามารถดังกล่าวมาใช้ในเชิงรุกยิ่งขึ้น รวมไปถึงการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2562 บริษัทฯมีรายได้รวม 2,783.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2% โดยเป็นรายได้จากการให้บริการ 2,711.5 ล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากเงินลงทุน 72.3 ล้านบาท ภายใต้การบริหารจัดการการทำงานและควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทฯกำไรเพิ่มสูงขึ้น โดยกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 1,297.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.9 ล้านบาท คิดเป็น 6.9% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 507.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.0 ล้านบาท คิดเป็น 25.5%
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติจ่ายเงินปันผล 1.10 บาทต่อหุ้น ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นได้รับสิทธิ (XD) วันที่ 16 มี.ค.2563 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 14 พ.ค.2563
“ในปี 2563 นี้ แม้เปิดไตรมาส 1 ที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกหรือการเผ ชิญกับโรคระบาด ซึ่งทำให้หลายภาคส่วนเกิดความกังวลกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่สำหรับ TQM ตลาดหลัก 90% ยังคงเป็นประกันวินาศภัย เช่น ประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยบ้าน ประกันกลุ่มองค์กร ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ในทุกสภาวการณ์ ขณะที่ภาวะโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน TQM ได้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยไวรัสโคโรนาร่วมกับพันธมิตรบริษัทประกัน เพื่อช่วยเหลือให้ลูกค้าได้รับความคุ้มครองในภาวะความเสี่ยงแบบนี้ได้ทันท่วงที ด้วยการซื้อผ่าน TQM Insurance Gifts ที่ TQM พัฒนาขึ้นเป็นเจ้าแรก ซึ่งเป็นช่องทางขายดิจิทัลที่ง่ายและสะดวก สร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคและสนับสนุนงานขายที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค เป็นอย่างดี”
ด้าน นางนภัสนันท์ พรรณนิภา ปธ.จนท.บห. TQM กล่าวว่า จากการเข้าสู่กระบวนการทรานส์ฟอร์มในหลายโครงการเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ปรับตัวและก้าวสู่การเป็นผู้นำดิจิทัลอินชัวร์รันส์โบรคเกอร์อย่างเต็มรูปแบบ โดยได้นำแผนงานต่างๆ จากโครงการมาดำเนินการ จนสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทฯ และพร้อมที่จะยกระดับองค์กรสู่ความเป็นสากลยิ่งขึ้น ด้วยการมุ่งสู่ความเป็น “ผู้นำดิจิทัลอินชัวร์รันส์โบรคเกอร์แห่งภูมิภาค” (Digital Insurance Broker in Region) โดยการขยายตลาดไปสู่ประเทศที่มีกำลังซื้อและมีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เริ่มมีการสำรวจตลาดและความเป็นไปได้ในธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ไปบ้างแล้ว
สำหรับแผนการดำเนินงานของ TQM ในปี 2563 ยังคงตอกย้ำการเป็นผู้นำเทรนด์ดิจิทัลอินชัวร์รันส์โบรคเกอร์ โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นการมอบประสบการณ์ที่ใหม่และแตกต่างให้แก่ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และยังคงรักษาฐานตลาดเดิมของ TQM ไว้ทั้งในส่วนงาน Tele Sale งานขาย Face to Face งานขายต่างจังหวัดและลูกค้าองค์กร รวมทั้งกลุ่มบริษัทในเครือ เช่น บริษัท ที เจ เอ็น อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ที่มุ่งเน้นขยายตลาดดีลเลอร์และนายหน้าอิสระที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนในการขยายงานขายและ งานบริการลูกค้า
ทั้งนี้ TQM ได้นำขีดความสามารถจากโครงการทรานส์ฟอร์เมชั่นต่างๆ ของปีก่อนมาปรับใช้เชิงรุก ภายใต้การขับเคลื่อนด้วย 6 กลยุทธ์หลักคือ 1.การเติบโตจากทุกช่องทางในทุก Platform 2. การ Co-Partner Ship 3. การควบรวมและการซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) 4.การขยาดตลาดไปต่างประเทศ 5. การเพิ่มยอดขายด้วย Cross-selling และ 6.ใช้ดิจิทัลเป็นปัจจัยสนับสนุนและขับเคลื่อนองค์กร ทั้งนี้การขับเคลื่อนโดยกลยุทธ์ Digital Strategy เพื่อการก้าวไปสู่การเป็น Number 1 Digital Insurance Broker in Regional
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ TQM ยังคงเน้นงานบริการที่มุ่งตอบสนองความต้องการและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ภายใต้สโลแกน “TQM ไม่หยุดทำดีที่สุดเพื่อคุณ”.