ธพว.จับมือ บสย.เติมทุน SME D ยกกำลัง 3 ดบ.สุดถูก
ธพว.จับมือ บสย. เดินหน้าโครงการเติมทุน “SME D ยกกำลัง 3” วงเงิน 10,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน ชูจุดเด่นดอกเบี้ยสุดถูก ยื่นกู้ภายในสิ้นเดือน พ.ค.63 นี้
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และอยู่รอดได้ในท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงไม่แน่นอน รวมถึง พัฒนาเศรษฐกิจรากฐานให้เกิดความเข้มแข็ง ดังนั้น ธพว. และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จึงร่วมดำเนินการขับเคลื่อนตามมาตรการดังกล่าว สนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ พร้อมช่วยลดต้นทุนธุรกิจ ผ่านบริการ “SME D ยกกำลัง 3” ภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 10,000 ล้านบาท
สำหรับบริการ “SME D ยกกำลัง 3” เปิดโอกาสเติมทุนให้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา วัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนนำไปใช้หมุนเวียน ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ มีจุดเด่นอัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในบรรดาสินเชื่อเอสเอ็มอีของทุกสถาบันการเงิน ณ ปัจจุบัน คือ นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพียง 3%ต่อปี นาน 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ส่วนบุคคลธรรมดา เพียง 5%ต่อปี นาน 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท กำหนดระยะเวลา ผ่อนนานสูงสุดถึง 7 ปี และพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 3 ปี นับเป็นโปรโมชั่นพิเศษมีเฉพาะบริการ “SME D ยกกำลัง 3” เท่านั้น จากปกติฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ โดยกำหนดเวลายื่นกู้ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 นี้ หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อรวมของโครงการ แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่สามารถยื่นขอสินเชื่อดังกล่าวได้ เช่น ธุรกิจบริการ ธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น
บริการเติมทุน “SME D ยกกำลัง 3” ของ SME D Bank และ บสย. มีจุดเด่นอัตราดอกเบี้ยต่ำ กระบวนการยื่นกู้ง่าย ทั่วถึง ทันสมัย แถมยังฟรีค่าธรรมเนียม บสย. 3 ปี เหมาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเข้าใช้บริการ เพื่อนำไปลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขัน ยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน” นายกอบชัย กล่าว
ด้านนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ธพว.วางระบบการยื่นกู้สินเชื่อหลากหลายช่องทาง เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกที่สุด ได้แก่ ยื่นกู้ผ่านระบบ Online Service Request หรือ OSR เพียงใช้สมาร์ทโฟนสแกน QR Code จากโปสเตอร์ หรือโบรชัวร์ประชาสัมพันธ์สินเชื่อที่ ธพว. จะกระจายไปทั่วประเทศ อีกทั้ง สามารถยื่นกู้ผ่านออนไลน์ได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านแอปพลิเคชัน “SME D Bank” หรือ สาขาของ ธพว. ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าบริการเติมทุน “SME D ยกกำลัง 3” จะสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่แหล่งทุนไม่น้อยกว่า 4,000 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 25,000 คนต่อปี และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท
ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ร่วมกับ ธพว. ภายใต้ชื่อ “SME D ยกกำลัง 3” เป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการคนตัวเล็กเข้าถึงสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขที่ดีที่สุดถึง 3 เด้ง คือ ฟรีค้ำประกันสินเชื่อ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยถูกสุด 3% ต่อเนื่องระยะเวลา 3 ปี นั้น เป็นโครงการความร่วมมือครั้งสำคัญ ระหว่าง บสย. และ ธพว. และยังสอดรับกับมาตรการรัฐ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” โดยจะเข้ามาช่วยเติมทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ โดยมี บสย. ทำหน้าที่ “นายประกันของรัฐ” ซึ่งจะเป็นการส่งท้ายโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) “SME D ยกกำลัง 3” ของ ธพว. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่ง ธพว. จะเปิดรับการยื่นกู้ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
อย่างไรก็ตาม บสย. มั่นใจว่า โครงการนี้จะช่วยผู้ประกอบการทั้งในภาคท่องเที่ยว ค้าขาย ค้าปลีก และรายย่อย ที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจและต้องการเงินทุนหมุนเวียน เข้าร่วมโครงการมากกว่า 4,000 ราย (การค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยรายละ 2.5 ล้านบาท) จากการที่ บสย. และ ธพว. ได้ดำเนินการตามมาตรการของรัฐ เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs โดยมอบอัตราดอกเบี้ยถูกสุด และค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่ำสุด อีกทั้ง บสย. ยังให้เงื่อนไขพิเศษแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 3 ปีแรก
นายธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการดำเนินมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” ซึ่ง บสย.ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนโครงการ โดยธนาคารพันธมิตรที่ร่วมลงนามได้ส่งมอบนโยบายการทำงานจากส่วนกลางสู่ระดับภาค ซึ่วขณะนี้มีลูกค้า บสย. ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการขยายระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อของ SMEs ที่อยู่ในโครงการ PGS5-7 และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างไทย ต่อเติม เสริมทุน จำนวน 5,014 ราย รวมเป็นวงเงิน 12,539 ล้านบาท