บลจ.กสิกรไทยปันผล 7 กองหุ้นกว่า 300 ล้านบาท
บลจ.กสิกรไทย โชว์ฟอร์มปันผล 7 กองหุ้นต่างประเทศสวนกระแสความผันผวนโลก รวมกว่า 300 ล้านบาท จ่ายพร้อมกัน 14 ก.พ.นี้
นายนาวิน อินทรสมบัติ Chief Investment Officer (รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บริษัทมีมติจ่ายปันผล 7 กองทุนหุ้นต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดเค โกลบอล เฮลท์แคร์ หุ้นทุน (K-GHEALTH) และกองทุนเปิดเค โกลบอล เฮลท์แคร์ หุ้นทุน Unhedged (K-GHEALTH(UH))
สำหรับรอบผลการดำเนินงาน 1 พ.ย. 62 – 31 ม.ค. 63 ในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดเค ยูโรเปียน หุ้นทุน (K-EUROPE) และกองทุนเปิดเค ยูโรเปียน ซิลเวอร์เอจ หุ้นทุน (K-EUSAGE) สำหรับรอบผลการดำเนินงาน 1 ส.ค. 62 – 31 ม.ค. 63 ในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดเค โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ออพพอร์ทูนนิตี้ (K-GEMO) และกองทุนเปิดเค ยูเอสเอ หุ้นทุน-A ชนิดจ่ายเงินปันผล(K-USA-A(D)) สำหรับรอบผลการดำเนินงาน 1 พ.ค. 62 – 31 ม.ค. 63 ในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย และกองทุนเปิดเค อินเดีย หุ้นทุน (K-INDIA) สำหรับรอบผลการดำเนินงาน 1 ก.พ. 62 – 31 ม.ค. 63 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย
โดยทั้ง 7 กองทุนมีกำหนดจ่ายปันผลพร้อมกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 311.18 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของทั้ง 7 กองทุนยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีแม้ในยามที่ตลาดโลกมีความผันผวน โดยจะเห็นได้จากหลายกองทุนได้รับการจัดอันดับจาก Morningstar ได้แก่ กองทุน K-EUROPE ได้รับการจัดอันดับ Overall Morningstar Rating 5 ดาว รวมถึงกองทุน K-GHEALTH, K-GEMO, K-USA-A(D) และ K-INDIA ได้รับการจัดอันดับ Overall Morningstar Rating 4 ดาว (ที่มา: Morningstar ณ 31 ม.ค. 63) ทั้งนี้ การจัดอันดับกองทุน (Morningstar Rating) เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลที่ผู้ลงทุนสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทย ยังคงมุ่งมั่นรักษามาตรฐานการบริหารจัดการกองทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมในทุกมิติ
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว บรรยากาศการลงทุนปกคลุมด้วยความกังวลต่อข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลายประเทศได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยในระยะสั้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การผลิต รวมถึงการส่งออก อย่างไรก็ดี ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีพัฒนาการไปในทิศทางบวก และประเด็น Brexit มีความชัดเจนขึ้น หลังอังกฤษถอนตัวออกจากอียูได้สำเร็จ แต่ยังต้องติดตามข้อตกลงด้านต่างๆ ซึ่งอังกฤษยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของอียูจนถึงสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย คาดว่าโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีแนวโน้มลดลง โดยสะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคการผลิตและภาคบริการปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางของประเทศแกนหลักต่างยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อช่วยประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจ.