KTB ประเมินปีหน้าเศรษฐกิจไทยโต 3.2%
กรุงไทยเปิดศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินปีหน้าเศรษฐกิจไทยโต 3.2% สูงกว่าปีนี้ที่คาดว่าจะโต 2.7%
ธนาคารกรุงไทยเปิดศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ซึ่งเป็นคลังสมองของธนาคาร วิเคราะห์เชิงลึกในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สร้างองค์ความรู้ที่นำไปต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดเผยผลงานวิจัยที่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะโต 3.2% โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประเมิน กนง.จะไม่ลดดอกเบี้ยในปีหน้า เหตุเพราะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก และไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปรียบเสมือนคลังสมองของธนาคาร ในการทำหน้าที่วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจระดับมหภาคและแนวโน้มธุรกิจระดับอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุค Technology Disruption ตลอดจนเสนอแนะวิธีการหรือเครื่องมือที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจและนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งธนาคารเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์กับลูกค้า ผู้ประกอบการ นักลงทุน รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทย
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.2% สูงกว่าปี 2562 ที่เติบโต 2.7% เนื่องจากในปีหน้า เศรษฐกิจจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทั้งในส่วนของงบประมาณประจำปี และงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปเป็นแรงจูงใจให้เกิดการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ประมาณการเศรษฐกิจไทยลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.6% เป็นเพราะความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่โต้ตอบรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ภาคการส่งออกยังต้องเผชิญกับอุปสรรค โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์จะขยายตัวเพียง 0.3% หลังจากที่หดตัว 1.8% ในปี 2562 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ WTO ที่ประเมินว่าการค้าโลกในปีหน้าจะขยายตัวเพียง 2.7%
นอกจากนี้ Krungthai COMPASS ยังได้นำเสนอ 5 เทรนด์ผู้บริโภคออนไลน์ ในปี 2563 ได้แก่ 1. เทรนด์ชีวิตติดเน็ต จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่จะแตะระดับ 85% 2. เทรนด์ Gen C เมื่อโลกของผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน และ 90% ของผู้บริโภคเลือกที่จะเชื่อข้อมูลจากคนรอบข้าง 3. เทรนด์สูงวัยแต่ใจออนไลน์ โดยกว่า 46% ซื้อของออนไลน์ 4. เทรนด์โสดพร้อมเพย์ ที่ช้อปปิ้งมากกว่าคนมีครอบครัว 5. เทรนด์อยากกินต้องได้กิน ที่ทำให้การสั่งอาหารออนไลน์โตก้าวกระโดด ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือใหม่ๆในการดึงดูดผู้บริโภคเหล่านี้ เช่น การใช้ Online Influencer เพื่อทำการตลาดให้โดนใจ ตลอดจนเลือกใช้ผู้ให้บริการ e Logistics เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความสะดวก รวมทั้งส่งสินค้าได้หลากหลายและถูกกว่า
ทิศทางปี 2020 กำลังซื้อในครัวเรือนไทยอาจชะลอตัวต่ำ ในส่วนของประเทศไทย ไตรมาส3ในเดื่อน8คงโตไม่ถึง3%เหตุผลหนึ่งเพราะเศรฐกิจไทยพึ่งการส่งออกมากเกินไป
KTB มองการส่งออกในปี 2020 อยู่ที่0.3%และน่ากังวลว่าเศรฐกิจอาจชะลอตัวลง