ทีเอ็มบีธนชาต รวมกิจการปิดดีลแสนล้าน
ธนาคารทีเอ็มบี ธนชาต โครงสร้างของผู้ถือหุ้นจะเปลี่ยนไป โดยมีกลุ่มไอเอ็นจี ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 21% รองลงมา คือ TCAP ถือหุ้น 20% กระทรวงการคลังถือหุ้น 18% และ สโกเทียแบงก์ ถือหุ้น 5% ที่เหลืออีก 34% เป็นผู้ลงทุนรายย่อย
ธนาคารทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตเปิดแผนการรวมกิจการระหว่าง 2 ธนาคารเผยรายละเอียดการปรับโครงสร้างของธนาคารธนชาต รวมไปถึงแนวทางการเพิ่มทุนของธนาคารทีเอ็มบี และโครงสร้างสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลักในเบื้องต้นประกอบด้วย ING ถือหุ้น21.3%บมจ. ทุนธนชาต (TCAP) ถือหุ้น20.4% กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 18.4% สโกเทียแบงก์ (BNS) ถือหุ้น 5.6% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 34.3% ซึ่งคาดว่ากระบวนการรวมกิจการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2564 โดยในการแถลงแผนครั้งนี้ ประกอบด้วยคณะกรรมการและผู้บริหารจากทุกฝ่ายได้แก่ นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง Mr. Mark Newman, Head of Challengers & Growth Markets Asia,ING นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร TCAP Mr.Philippe G.J.E.O. Damas ประธานกรรมการบริหารธนาคาร TMB นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB และ นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต
การควบรวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีกับธนาคารธนชาตในครั้งนี้ ทีเอ็มบี ต้องจัดหาเงินทุนมาจำนวน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในธนาคารธนชาต แทนผู้ถือหุ้นเดิม คือ บมจ.ทุนธนชาต(TCAP) และ สโกเทียแบงก์
ส่วน บมจ.ทุนธนชาต เมื่อได้เงินค่าหุ้นจาก TMB จำนวน 8 หมื่นล้านบาทแล้ว ทาง บมจ.ทุนธนชาต จะนำเงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทมาซื้อหุ้นบริษัทลูกและหุ้นของบริษัทที่ธนาคารธนชาตลงทุนไว้ นอกจากนี้ บมจ.ทุนธนชาต จะใช้เงินอีก 4.5 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB ทำให้ บมจ.ทุนธนชาต เหลือเงินสดจากธุรกรรมดังกล่าวประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท
ส่วนการควบรวมกิจการของทั้งสองแห่ง จะต้องจัดกระบวนทัพด้านบุคลากรใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารระดับ CEO ลงมา ซึ่งยืนยัน จะไม่มีการปลดพนักงาน แต่อย่างใด
กระบวนการซื้อขายหุ้นทั้งหมดนี้ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยในเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งสองธนาคารจะมีคณะกรรมการและผู้บริหารชุดเดียวกัน และจะทยอยรวมการดำเนินงาน (Business Integration) ทีละส่วนงาน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2564โดยระหว่างกระบวนการรวมการดำเนินงานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารจะยังสามารถใช้บริการของธนาคารแต่ละแห่งได้ตามปกติ โดยจะมีการแจ้งความคืบหน้าให้ลูกค้าทราบอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของกลยุทธ์ของธนาคารใหม่นั้น จะดึงเอาจุดแข็งของทั้งสองธนาคารมารวมกันเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า โดยธนาคารใหม่จะยังคงเป็นธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝากและการลงทุนที่ดีที่สุด และมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่โดดเด่น ยิ่งกว่านั้นการผนึกกำลังครั้งนี้จะทำให้ธนาคารแห่งใหม่มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ดียิ่งขึ้นในยุคดิจิทัล.