ธสน.ติวเข้ม Libra ให้ SMEs ก่อนปล่อยกู้

EXIM BANK ดึง กูรู “เงินดิจิทัล” ประเมินเหรียญ Libra ระบุหากลูกค้า SMEs รู้เท่าทัน พร้อมให้กู้รุกขยายตลาดประเทศ ด้าน ปธ.สมาคมฟินเทคฯ ย้ำ เหรียญคริปโตฯ ค่ายเฟซบุ๊ก ยืดหยุ่นสูง มีโอกาสแจ้งเกิดมาก ชี้ควรผูกโยงบัญชีเงินฝากแบงก์หลัก ขณะที่บิ๊กแบงก์กรุงศรีฯ เชื่อกระทบยอดใช้จ่ายและค่า Fee บัตรเครดิตทั่วโลกแน่ ยันหลายแบงก์วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าก่อนปล่อยกู้
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) หรือ EXIM BANK กล่าวเปิดงานสัมมนา “Libra ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอนาคตการเงินโลก” จัดโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า EXIM BANK ว่า ไม่ว่า Libra เงินดิจิทัลของค่ายเฟซบุ๊กและพันธมิตร จะสามารถนำออกมาใช้ในโลกการเงินได้จริงหรือไม่? และจะถูกต่อต้านจากรัฐบาลของหลายๆ ประเทศหรือเปล่า? แต่ EXIM BANK จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ได้ปรับตัวอย่างเท่าทันและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี FinTech ของโลก เพราะสิ่งนี้อาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อโลกและไทยได้
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้ ได้มีความรู้และเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงข้างต้น EXIM BANK ก็พร้อมจะให้การสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ดิจิทัล และโลกการเงินยุคใหม่อย่างเต็มประสิทธิ สำหรับการขยายตลาดออกไปในต่างประเทศ
ด้านนางทิพยสุดา ถาวรามร ปธ.สมาคมฟินเทค แห่งประเทศไทย และอดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ถึงตรงนี้ ยังบอกไม่ได้ว่า Libra จะสามารถนำมาใช้ได้จริงเมื่อใด แต่แนวโน้มของคริปโตเคอร์เรนซี หรือเงินดิจิทัล ที่จะถูกสถาบันการเงินรูปแบบเก่า นำเอามาปรับใช้ ก็มีสูง เช่น ปธ.กลุ่มเจพีมอร์แกน เคยต่อต้านคริปโตเคอร์เรนซี แต่สุดท้าย ก็ออกเหรียญเงินดิจิทัลของตัวอย่าง
สำหรับ Libra นั้น ถือเป็น คริปโตเคอร์เรนซี ที่พัฒนาและต่อยอดมาจากข้อจำกัดของ Bitcoin ที่ดูจะเป็นอิสระ ไม่ข้องเกี่ยวและผูกพันกับหน่วยงานรัฐของประเทศใด เมื่อ Libra ที่มีการผ่อนปรนมากและมีเสถียรภาพมากกว่า อีกทั้งยังมีเจ้าภาพรับผิดชอบโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มเฟซบุ๊กและพันธมิตร รวม 27 บริษัทชั้นนำของโลก นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลลงตัวลงกว่า Bitcoin จึงไม่แปลกหาก Libra จะมีโอกาสเกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ขณะนี้ สภาครองเกรสกำลังสอบทานถึงบทบาทและการทำหน้าที่ของ Libra

นางทิพยสุดา กล่าวว่า ทุกวันนี้ ประชาชกรของโลกมีราว 7,000 ล้านคน โดย 4,000 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และกว่า 2,000 ล้านคนใช้เฟซบุ๊ก ที่แม้จะบางชื่อผู้ใช้จะไม่มีตัวตนจริง กระนั้น ก็มีกว่า 1,000 ล้านคน ที่ยังคงใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อรวมกับธุรกิจที่เฟซบุ๊กเตรียมการเอาไว้รองรับเหรียญ Libra และธุรกิจระดับโลกของพันธมิตรข้างต้น เชื่อว่าการเกิดขึ้นของ Libra ย่อมจะส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ความยืดหยุ่นของ Libra อาจทำให้รัฐบาล ธนาคารกลาง และสถาบันการเงินในแต่ละประเทศ หันมาร่วมมือกันได้ เนื่องจาก Libra ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือเหรียญ ดังนั้น ผู้ถือครองเหรียญจึงไม่จำเป็นจะต้องแลกเงินจริงกับเงินดิจิทัลอย่าง Libra มากกว่าที่จะต้องใช้ในการโอนเงินระหว่างกัน ทั้งภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ ซึ่งนั้นจะทำให้เงินส่วนใหญ่ยังคงฝากอยู่กับสถาบันการเงินหลัก เพียงจะใช้เหรียญ Libra เมื่อใด ก็โยกเงินจากบัญชีธนาคารไปแลกเป็นเหรียญ Libra เท่านั้น
“แม้ Libra จะยังไม่มีการประกาศใช้จริง แต่หากมีการใช้เมื่อใด เชื่อว่าคนไทยและธุรกิจไทย ที่ทุกวันนี้ก็คุ้นเคยการใช้เฟซบุ๊ก และบางคนก็ซื้อขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊กอยู่แล้ว จะต้องหันมาใช้ Libra ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ การหลอกลวงให้ลงทุนหรือซื้อ Libra เก๊ จึงอยากฝากเตือนเป็นการล่วงหน้าไว้ก่อน” ปธ.สมาคมฟินเทค ย้ำ
ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ ปธ.คณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ทุกวันนี้ สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีการโอนเงินข้ามประเทศมากที่สุด ปลายทางส่วนใหญ่ล้วนเป็นประเทศที่มีผู้คนใช้เฟซบุ๊กเป็นจำนวน ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย หรือแม็กซิโก ยกเว้นจีน ซึ่งที่ผ่านมาการโอนเงินมีขั้นตอนมาก ทำให้เสียเวลา และมีต้นทุนแพง ที่สำคัญ การโอนเงินที่สะดวก รวดเร็วและปลอด เช่นที่เงินดิจิทัลเป็นอยู่นั้น สามารถจะหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ จนกลายเป็นพลวัตรที่น่าจับตามอง เพราะแต่ละปีโลกมีการโอนเงินไปมาระหว่างกันมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเยอะมาก
ทั้งนี้ หาก Libra เกิดขึ้นและถูกนำมาใช้จริง เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตอย่างแน่นอน เนื่องจากข้อมูลบ่งชี้ว่า แต่ละปีมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั่วโลกมีราว 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีค่าธรรมเนียมการใช้จ่ายและโอนเงินราว 3,600 ล้านเหรียญ ซึ่งการเกิดขึ้นของ Libra จะทำให้ค่าธรรมเนียมเหล่านั้นสูญหายไปได้
นายฐากร คาดการณ์ว่า แนวโน้มประชากรไทยจะลดจำนวนลง แรงงานและความต้องการซื้อสินค้าก็จะลดลง เพราะไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องมองและคิดวางแผนรับมือกับสิ่งนี้ โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านระบบการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ซึ่งการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเกิดขึ้นของ Libra อาจเป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการเหล่านั้น
“นอกจากข้อมูลหลัก เช่น อายุ อาชีพ รายได้ ฯลฯ ที่แบงก์ต่างๆ นำมาใช้เพื่อวิเคราะห์และประเมินในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าแล้ว ทุกวันนี้ ยังมีการนำข้อมูลทางเลือก เช่น พฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งเป็น Big Data ที่สำคัญ มาใช้ประกอบการพิจารณาอีกด้วย ซึ่งตรงนี้ แบงก์ชาติเองก็ยอมรับหลักการนี้แล้ว” นายฐากร ระบุ.