BAM โชว์เจ๋ง! จ่อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ
BAM พร้อมโลดแล่นในตลาดหุ้นไทย หลังโชว์ “จุดขาย” ครบทุกด้าน ประกาศดัน 3 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างโอกาสรับมือ NPL + NPA ที่เติบโตปีละ 12.8% เผยรอแค่ ก.ล.ต. “ไฟเขียว” นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้าน “คนใน” แอบหวัง ปลายปีนี้ ไม่เกินต้นปีหน้า ได้เห็นหุ้น BAM เทรดแน่
แม้จะยังรอคำตอบจาก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าจะ “ไฟเขียว” ให้หุ้นของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บสก.หรือ BAM) จะเข้าไปโลดแล่นและเทรดอยู่บนกระดานหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เมื่อใดกันแน่?
กระนั้น หุ้นที่เตรียมนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมกันไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น หรือร้อยละ 54.4 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ซึ่ง BAM ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อ สำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็อยู่ในใจและเป็น “หุ้นใหม่” ที่นักลงทุนผู้มองการณ์ไกล รวมถึงนักเก็งกำไร ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชนเอง ต่างเฝ้ารอการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ BAM
ปัจจัยที่ทำให้หุ้นตัวนี้ ได้รับการจัดชั้นให้เป็น “หุ้นทองคำ” ตัวหนึ่ง เป็นเพราะเหตุใด? เรื่องนี้ ทีมผู้บริหารระดับสูงของ BAM มีคำตอบระหว่างร่วมแถลงข่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ 3 ด้านที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ ตอกย้ำความเป็นธุรกิจ “บริหารสินทรัพย์” รายใหญ่สุดของประเทศไทย เมื่อช่วงสายวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ปธ.กก. BAM กล่าวถึงความมั่นใจในแผนการระดมทุนว่า “BAM เชื่อมั่นในศักยภาพ และจุดแข็งของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิต่อเนื่องปีละกว่า 4,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี มีเครือข่ายทั่วประเทศมากที่สุดรวม 26 แห่ง มีทีมงานประสบการณ์สูง และปัจจัยที่สำคัญคือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจกล่าวคือ ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทฯ สามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ในต้นทุนที่เหมาะสม ทางกลับกันหากเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ลูกหนี้ของบริษัทฯ มีศักยภาพในการชำระหนี้ และลูกค้าของบริษัทฯ มีกำลังซื้อทรัพย์สินรอการขาย เป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ”
ทั้งนี้ การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้ BAM สามารถระดมทุนและเพิ่มช่องทางเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จะเหลือเพียง 45% แต่มั่นใจว่า BAM จะสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ปธ.กก.BAM กล่าวอีกว่า ธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ยังคงเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า NPL ในระบบธนาคารมีอัตราการเติบโต เฉลี่ยร้อยละ 12.8 ประกอบกับราคาประเมินที่ดินล่าสุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยโดยภาพรวมทั้งประเทศที่ร้อยละ 27.7 และจากโอกาสทางธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ BAM กำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลักที่จะสานต่อการเติบโตในอนาคต และเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ขยายฐานทรัพย์สิน BAM ติดตามการขาย NPLs และ NPAs (สินทรัพย์รอการขาย) อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และ คัดเลือกสินทรัพย์ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่ BAM มีสาขาทั่วประเทศ มีพนักงานที่มีประสบการณ์สูงและมีความเข้าใจในตลาดอย่างดี ทำให้สามารถประเมินศักยภาพและราคาทรัพย์ได้แม่นยำ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น BAM ให้ความสำคัญกับการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลังที่สามารถ BAMให้ความสำคัญกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ พร้อมกันนี้ BAM ยังทำการตลาดเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เว็บไซต์ และช่องทาง Social Media ขององค์กร ฯลฯ
และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร BAM เชื่อว่าพนักงานที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจ จึงได้จัดการฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมทั้งมีการเตรียมแผนการสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน
ยุทธศาสตร์เหล่านี้ ผลักดันให้ BAM ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 61 มีกำไรสุทธิ 5,202.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.58 จากปีก่อน ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงวันที่ 31 มี.ค.62 ได้ทำการปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (NPLs) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้ว 90,562.65 ล้านบาท สามารถเรียกเก็บเงินสดได้ถึง 122,931.74 ล้านบาท
โดยในปี 61 BAM มีเงินสดรับจากธุรกิจ NPLs และ NPAsรวม 16,569.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่ทำได้ 13,515.74 ล้านบาท อรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.59 และมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 5,202.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่ทำได้ 4,500.82 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.58
จากข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.62 พบว่า BAM มีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิ (NPLs) 74,482.33 ล้านบาท ซึ่งหลักประกันของลูกหนี้ดังกล่าวมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 187,875.26 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขายสุทธิ (NPAs) 21,731.04 ล้านบาท โดยมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 50,287.17 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมา BAM มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยตลอด 3 ปีก่อนหน้านี้ ได้จ่ายเงินปันผลไปแล้วกว่า 60-90% โดยประมาณ และภายหลังการเข้าทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว เบื้องต้นได้กำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40.0 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย
ปัจจุบัน BAM มีทุนจดทะเบียน 16,225 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,245 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 5 บาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 13,675 ล้านบาท โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถือหุ้น 99.99 % ทั้งนี้ หลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนฟื้นฟูฯใน BAM จะอยู่ในสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 ทั้งนี้ เงินจากการระดมทุนจะถูกนำไปขยายธุรกิจโดยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทฯ และ/หรือตั๋วเงินจ่ายที่ถึงกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ด้านนายสมพร มูลศรีแก้ว กก.ผจก. BAM กล่าวเสริมว่า จากจุดเด่นทั้งหมดที่ BAM มีนั้น เชื่อว่าจะทำให้ BAM สามารถดำเนินธุรกิจทางด้านบริหารสินทรัพย์ได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง ที่สำคัญยังคงทำหน้าที่เป็นเสาหลักและเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งฝ่ายบริหารและพนักงาน BAM ส่วนใหญ่ ต่างแอบคาดหวังจะได้เห็น ก.ล.ต. ทำการอนุมัติให้หุ้นของ BAM เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในราวปลายปีนี้ หรืออย่างช้าไม่น่าจะเกินไตรมาสแรกของปี 63 เนื่องจากฝ่ายบริหารของ BAM ได้ประสานและจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ไว้อย่างละเอียด ก่อนยื่นแบบฯไปให้ ก.ล.ต.ได้พิจารณาแล้วก่อนหน้านี้ส่วนราคาที่เปิดให้มีการจองซื้อ เชื่อว่าน่าจะสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่กำหนดไว้เพียงหุ้นละ 5 บาทอย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นเท่าใดนั้น คงต้องขึ้นกับการเจรจาร่วมกันระหว่าง BAM อันเดอร์ไรเตอร์ (ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัทให้แก่ประชาชน) และ ก.ล.ต.ต่อไป.