“มันนี่ เอ็กซ์โป”ดิจิทัลพุ่ง-สะพัด 7 หมื่นล.
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/10/m-10.jpg)
เผยยอดเงิน 7 หมื่นล้านบาท สะพัดในงาน Money Expo ครั้งที่ 19 ชี้แบงก์-ตลาดหุ้นยก “การเงิน-การลงทุนดิจิทัล” มาโชว์ พร้อมอัดแข่งโปรฯ ดอกนกู้ 0% ดันดอกฝากสูงสุด 4% ต่อปี ยันสินเชื่อและรีไฟแนนซ์บ้านสุดฮิตยอดกู้ 4.8 หมื่นล้านบาท ด้านผู้ประกอบการขอสินเชื่อเอสเอ็มอีกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินฝาก/สลากออมทรัพย์/พันธบัตรยอดพุ่งกว่า 3.8 พันล้านบาท
น.ส.ภาคนี วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานร่วมงานมหกรรมการเงิน Money Expo 2019 กล่าวถึงความสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้ ว่า เป็นผลมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ บริษัทโบรกเกอร์ ได้นำนวัตกรรมทางการเงินและการลงทุนในยุคดิจิทัลมาเปิดตัวในงานอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวโปรแกรม “Trade Master” (ซื้อขายหุ้นอัตโนมัติ) ครั้งแรกในงานฯของธนาคารกรุงเทพและบล.บัวหลวง หรือการที่ธนาคารไทยพาณิชย์นำนวัตกรรมสำหรับลูกค้า Wealth บน 3 แพลตฟอร์มสำคัญมาเปิดตัวในงานเป็นครั้งแรก
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย ก็นำเทคโนโลยี Facial Recognition มาให้ได้ทดลองใช้ในรูปแบบของเกมก่อนที่จะนำมาใช้ในการให้บริการจริงอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยได้นำ Krungthai Next แอปพลิเคชั่นใหม่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการเงินภายในแอปฯเดียว รวมทั้งบัตร Krungthai Travel Cardบัตรสำหรับการท่องเที่ยวที่รองรับอัตราแลกเปลี่ยนหลายสกุลเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยาชูนวัตกรรมดิจิทัลของกรุงศรีโมบายล์แอป, กรุงศรี บิซ ออนไลน์, กรุงศรี คิวอาร์ เพย์เม้นท์ ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า
ในส่วนของแบงก์รัฐ นำโดยธนาคารออมสิน ที่ได้นำ Digital Salak on MyMo มาเปิดขายในงานเป็นครั้งแรก โดยเป็นการฝากผ่าน Mobile Banking อายุสลาก 1 ปี หน่วยละ 20 บาท ครบ 1 ปีได้รับดอกเบี้ย 0.05 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็น0.25% ต่อปี ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำแอปพลิเคชั่นใหม่ Streaming Click2Win มาเปิดให้ใช้บริการในงาน โดยเป็นแอปทดลองส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ ด้วยเงินจำลองแบบไม่ต้องเปิดบัญชีเพื่อเรียนรู้และซ้อมส่งคำสั่งก่อนซื้อ-ขายจริง และนำแอป Streaming for FUND แอปฯ ซื้อขายกองทุนรวม LTF และ RMF กว่า 17 บลจ. โดยไม่ต้องเปิดบัญชีหลายรอบ รวมถึงบริการ SETSMART New Version พัฒนาการแสดงข้อมูลให้ทันสมัย ง่าย และข้อมูลครบถ้วนยิ่งขึ้น
ส่วนในโซนใหม่ล่าสุดในงาน Money Expo 2019 อย่าง Startup Business Matching คับคั่งไปด้วยทัพสตาร์ตอัพชั้นแนวหน้าของประเทศไทย นำโดยดิจิทัลเวนเจอร์สในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ นำเสนอผลงานของสตาร์ตอัพที่ได้รับทุนวิจัยจากโครงการ UREKA ครั้งที่ 1 เช่น Easy Rice ระบบตรวจสอบสินค้าข้าวและธัญพืช,Perception ระบบคอมพิวเตอร์ 3 มิติตั้งโต๊ะ, Pordeekum.ai แชตบอตผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอนวัตกรรมสินเชื่อดิจิทัลจากทีม SCB 10X ที่จะทำให้ประสบการณ์การขอสินเชื่อจากธนาคารเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เป็นต้น
สำหรับยอดธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในงานฯ พบว่า มีประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจสมัครใช้บริการทางการเงินและการลงทุนรวมกว่า 102,000 ราย มียอดธุรกรรมการเงินรวม 69,600 ล้านบาท จากผู้เข้าชมงานกว่า 800,000 คน โดยปีนี้สินเชื่อบ้านและรีไฟแนนซ์บ้านมียอดขอกู้ภายในงานน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา และส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV)
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสินเชื่อบ้านยังมียอดสูงเป็นอันดับ 1 วงเงิน 47,600 ล้านบาท จากโปรโมชั่นที่แต่ละธนาคารนำมาแข่งขันกัน โดยเฉพาะโปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษ 0% ที่มีในงานนี้เท่านั้น พร้อมเงื่อนไขพิเศษต่างๆ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าประเมินราคา ค่าจดจำนอง เป็นต้น ซึ่งประชาชนที่ยื่นขอกู้สินเชื่อบ้านในงานสามารถรู้ผลอนุมัติเบื้องต้นได้ทันที
อันดับ 2 สินเชื่อเอสเอ็มอี รวมวงเงินกู้และยอดค้ำประกันสินเชื่อกว่า 10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับโปรโมชั่นพิเศษอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-4% และยังมีแคมเปญอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ผ่อนปรนสำหรับสตาร์ตอัพที่มาขอกู้ภายในงานอีกด้วย
น.ส.ภาคนี กล่าวอีกว่า ปีนี้มียอดเงินฝาก/สลากออมทรัพย์และพันธบัตรสูงเป็นอันดับ 3 รวมวงเงินกว่า 3,800 ล้านบาท จากโปรโมชั่นเงินฝากดอกเบี้ยสูงที่นำมาแข่งขันกัน เช่น ธนาคารออมสินมีโปรโมชั่นเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 106 วัน ดอกเบี้ยขั้นบันได เฉลี่ย 4% ต่อปี , เงินฝากดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี ของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์แคปปิตอลลิ้งค์, เงินฝากประจำ 12 เดือน ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย รวมทั้งสลากดิจิทัลอายุ 1 ปีของธนาคารออมสิน และพันธบัตรรัฐบาลที่มียอดจองซื้อเต็มโควต้าของธนาคารที่มาเปิดขายในงานด้วย ด้านสินเชื่อรายย่อย มียอดขอกู้ในงานเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะบัตรเครดิต มีผู้สมัคร 23,000 ใบ รวมมูลค่ากว่า 2,300 ล้านบาท และสินเชื่อบุคคลมีผู้สมัครใช้บริการกว่า 12,000 ราย รวมมูลค่า 1,200 ล้านบาท
สำหรับบริการทางการเงินการลงทุนอื่นๆ ในงานฯ ก็มีผู้ลงทุนและสมัครใช้บริการจำนวนมาก เช่น การลงทุนซื้อประกันชีวิตและประกันวินาศภัย/แบงก์แอสชัวรันส์ คิดเป็นทุนประกัน 2,200 ล้านบาท, การลงทุนซื้อกองทุนรวม 560 ล้านบาท และการเปิดบัญชีหุ้น-อนุพันธุ์/ซื้อขายทองคำรวมกว่า 2,700 ราย
“ปีนี้ มีประชาชนเข้าร่วมประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีในงานมหกรรมการเงิน Money Expo 2019 รวมมูลค่าทรัพย์ 420 ล้านบาท ส่วนการขายสินทรัพย์ NPA ของธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์ก็ได้รับความสนใจมากเช่นเดียวกัน โดยมียอดขายทรัพย์ NPA กว่า 1,300 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมบังคับคดี ยังนำโครงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ของธนาคาร สถาบันการเงิน และบัตรเครดิตมาในงาน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทุนทรัพย์รวมกว่า 250 ล้านบาท” น.ส.ภาคนี ระบุ.