ออมสินจี้ SMEs ปรับตัวรับเงินกู้ใหม่ 5 หมื่น ล.
ออมสินจัดเต็ม 3 สินเชื่อ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทให้ SMEs และ SMEs Starup ตามโครงการสินเชื่อประชารัฐสร้างไทย ดึง บสย.ค้ำเงินกู้ เว้นวรรคค่าธรรมเนียม 2+2 ปี พร้อมดอกเบี้ยต่ำสุด เผยผู้ประกอบการทุกกลุ่มต้องปรับตัว ไม่เว้นแบงก์รัฐ-เอกชน ชี้ Techfin น่ากลัวสุด หลังยักษ์ใหญ่ข้ามชาติรุกธุรกรรมการเงิน
“เรามุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และ SMEs Starup ให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาศักยภาพ และยกระดับการแข่งขันของผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพ พร้อมปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล”
ข้างต้นคือยุทธศาสตร์หลักของธนาคารออมสิน ที่นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ออมสิน กล่าวระหว่างเปิดงาน BSB Digital Forum 2019 “Enjoy New Exprience” ภายใต้ความร่วมมือคณะบริหารธุรกิจ ม.ศรีปทุม เพื่อให้ความรู้ทางธุรกิจแก่นักศึกษา และผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ตอัพ ก่อนจะพูดถึงกลยุทธ์การรับมือการดำเนินธุรกิจในยุคที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงทุกมิติ ทั้งเทคโนโลยี กฎข้อบังคับ พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป และการตลาดที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยย้ำว่า “ผู้ประกอบการยุค 4.0 ต้องเตรียมการรับมืออย่างรู้ทัน”
ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน พร้อมเป็นที่ปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจให้กับลูกค้า ด้วยการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และสนับสนุนเงินทุนกว่า 50,000 ล้านบาท ในโครงการสินเชื่อประชารัฐสร้างไทย ผ่านสินเชื่อ 3 โครงการคือ 1.สินเชื่อ GSB เพื่อ SMEs คล่องตัว วงเงิน 20,000 ล้านบาท ใช้เป็นทุนหมุนเวียน สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี 2.สินเชื่อ GSB เพื่อ SMEs ยั่งยืน วงเงิน 20, 000 ล้านบาท ใช้เป็นเงินลงทุนสินทรัพย์ถาวร สูงสุดไม่เกิน10 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี และ 3.สินเชื่อ GSB บัญชีเดียว วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและลงทุนสินทรัพย์ถาวร สูงสุด 100 ล้านบาท ไม่เกิน 7 ปี
โดยจะปล่อยสินเชื่อช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ 25,000 ล้านบาท และช่วงไตรมาสแรกของปี 63 อีก 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวมสินเชื่อ SMEs ที่ปล่อยไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งธนาคารออมสินได้ปล่อยสินเชื่อในส่วน SMEs ไปแล้วสะสมรวม 150,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อใหม่ราว 20,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อใหม่นี้ มีการทะยอยเบิกเงินออกไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ที่เหลือคงมีการเบิกออกไปเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้
“โครงการสินเชื่อประชารัฐสร้างไทย ลูกค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการที่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันสินเชื่อให้ถึง 30% โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมนานถึง 2 ปี ต่อจากนั้น ธนาคารออมสินจะเข้ามารับผิดชอบต่อไปอีก 2 ปี รวมถึงการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเพียง 4% ในช่วง 2 ปีแรก และ 6% ในช่วง 2 ปีต่อจากนั้น จึงจะคิดดอกเบี้ยตามจริงในอัตรา MLR/MRR” ผอ.ออมสิน กล่าว
สำหรับยอดสินเชื่อรวมในปัจจุบันมีราว 2.23 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับยอดเงินฝากที่มีทั้งระบบ โดยเป็นสินเชื่อใหม่ในปีนี้ราว 120,000 ล้านบาท ซึ่งเกินเป้าหมายที่คาดว่าจะปล่อสินเชื่อใหม่ได้ราว 2 เท่าของจีดีพี หรือราว 60,000 ล้านบาทไปเยอะมาก ในส่วนของหนี้เสีย (NPL) ที่มีราว 5% นั้น ส่วนใหญ่เป็นยอดสะสมมาจากอดีต และหากพิจารณา NPL จากยอดสินเชื่อใหม่ ณ ปัจจุบัน พบว่ามีเพียง 3.1% เท่านั้น โดยภายในสิ้นปีนี้ ธนาคารออมสินคาดหวังจะคุม NPL ให้อยู่ในระดับ 2.9%
นายชาติชายยังยกตัวอย่างถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของธนาคารออมสิน ผ่านการ Re Banding และการ Re Marketing รวมถึงการปรับกลยุทธ์ในการใช้สื่อการตลาดที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ในฐานะที่ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงิน ไม่ได้อยู่ที่ความเป็น Fintech เพราะสิ่งนี้ สถาบันการเงินต่างปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงในทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว
ทว่าสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าคือ Techfin ซึ่งทุกวันนี้ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีทั้งฐานเทคโนโลยีและฐานลูกค้า รวมถึงฐานการเงินที่เข้มแข็ง หันมาทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Facebook Amazon หรือ Alibaba Tencen หรือ JD.com สิ่งนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการสถาบันการเงินอย่างมาก และเป็นสิ่งที่จะทุกที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับตัวเช่นกัน
“ผู้ประกอบการ SMEs และ SMEs Starup เอง ก็จะต้องปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะมีตามมา ทั้งนี้ ธนาคารออมสินพร้อมจะเป็นที่ปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจให้กับลูกค้า รวมถึงจัดหาเงินทุนมาเติใเต็ม เพื่อผลักดันให้ธุรกิจของ SMEs และ SMEs Starup เติบโตไปพร้อมกัน” ผอ.ออมสิน ระบุ.