ธสน.ผุดเงินกู้ซื้อเฟรนไชส์ไทยรุก CMLV
EXIM BANK (ธสน.) ผนึก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ 49 แฟรนไชส์แบรนด์ไทย รุกตลาด CLMV นำร่องสินเชื่อตัวใหม่ หนุนซื้อ “แฟรนไชส์ไทย/เชนไทย” ตั้งเป้าเฟสแรก 800 ล้านบาท ให้ทั้งนักธุรกิจไทยและคนท้องถิ่น กู้สกุลดอลลาร์หรือบาท คิดดอกเบี้ยต่ำ เผยแฟรนไชส์ไทยโตแรงปีละ 20% อัพ! มองไกลรุกอีกคืบ โฟกัส “อินเดีย-ลาติน-แอฟริกา”
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กก.ผจก. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK กล่าวในงานสัมมนา “พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล” ว่า ธสน.ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน เ(จ้าของแฟรนไชส์แบรนด์ไทย) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนิติบุคคลในกลุ่มประเทศ CMLV (กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม) ทั้งที่เป็นบริษัทคนไทยและคนท้องถิ่น กู้เงินเพื่อนำไปซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ไทย ซึ่งปัจจุบันมี 49 แบรนด์ที่รุกเข้าดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จากทั้งหมดที่มีกว่า 584 แบรนด์ และกว่า 1 แสนสาขาทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ที่ขยายธุรกิจไปยัง CMLV เป็นบริการอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นการศึกษาและนวดสปา ทั้งนี้ เป็นความได้เปรียบที่มีความคล้ายคลึงทางสังคมและวัฒนธรรม กระทั่ง พัฒนาธุรกิจบริการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
นอกจากนี้ CLMV ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี ส่งผลให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่อปีและกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่า 5 ปีจากนี้เศรษฐกิจCLMV จะขยายตัวเฉลี่ยกว่า 6% ต่อปี โดยปัจจุบัน พบว่าจีดีพีของกัมพูชาเติบโต 6.6% เมียนมา 6.7% ลาว 6.8% และเวียดนาม 6.5% สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเกือบเท่าตัว ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของประชากรใน CLMV เพิ่มขึ้น 30% ในปี 66 ท่ามกลางการผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศ ที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
กก.ผจก.ธสน.ย้ำว่า เมื่อโอกาสทางธุรกิจของแฟรนไชส์ไทยยังขยายตัวได้อีกมากในตลาดต่างประเทศ ธสน.จึงพัฒนาบริการใหม่ “สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทย/เชนไทย (Loan for Thai Franchise/Thai Chain Buyers)” เป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาวที่มีระยะเวลากู้ยืม ไม่เกินระยะเวลาของสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์/เชน อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ หากเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ LIBOR +3.50 % ต่อปี และสกุลบาทเท่ากับ Prime Rate ต่อปี (ปัจจุบันอยู่ที่ 6.125% ต่อปี) หลักประกันพิจารณาตามความเหมาะสม โดยมีวงเงินอนุมัติรวม 800 ล้านบาท
ทั้งนี้ การขยายตลาดแฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศนั้น ผู้ประกอบการต้องพัฒนาธุรกิจและบริการภายใต้แบรนด์ของไทย ให้ตอบสนองความต้องการใหม่จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดต่างๆ ได้ กล่าวคือ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในCLMV รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดหวังบริการที่ดีและได้มาตรฐาน รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาโอกาสและกฎระเบียบที่แตกต่างกันไปในแต่ละตลาด พร้อมดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การคัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่น่าเชื่อถือและมีความตั้งใจจริงในการทำธุรกิจ รวมทั้งมีความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์ ขณะเดียวกันต้องบริหารซัพพลายเชนของตนเองให้แข็งแกร่ง สามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ การแปรรูปสินค้า และโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ใน CLMV เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยอาศัยความได้เปรียบจากความรู้จักคุ้นเคยสินค้าแบรนด์ไทยจากสื่อต่างๆ ที่ผู้บริโภคใน CLMV ติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ และใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งบริหารจัดการธุรกิจอย่างใกล้ชิด สร้างชื่อเสียงของสินค้าและบริการของไทยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลในราคาที่ผู้ซื้อจับต้องได้ โดยมีสำนักงานผู้แทน ธสน.ในกัมพูชา ลาว และเมียนมา ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ภายใต้ “ทีมไทยแลนด์” พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจแฟรนไชส์ได้มากขึ้น” นายพิศิษฐ์กล่าว และว่า ธสน.เตรียมจะเปิดสำนักงานผู้แทนในเวียดนามเร็วๆ นี้ พร้อมกันนี้ ยังมีแผนเตรียมจะขยายเฟสต่อไป โดยพุ่งเป้าไปยังตลาดใหม่ๆ อาทิ อินเดีย ลาตินอเมริกา และแอฟริกา
ด้านนางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจเฟรนไชส์ไทยมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก เฉลี่ยแต่ละปีโตกว่า 20% โดยมีมูลค่าตลาดในปัจจุบันมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งความร่วมมือกับ ธสน.ครั้งนี้ ไม่เพียงส่งเสริมให้ธุรกิจเฟรนไชส์ไทยขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หากยังเป็นโอกาสในการขายสินค้าวัตถุดิบจากไทย ส่งออกแรงงานไทย และนำรายได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาอีก ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย โดยเฉพาะกลุ่มรายใหญ่และระดับกลาง มีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากมีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ได้มาตรฐานสากล และมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับคนในรุ่นใหม่ในประเทศเหล่านั้น ก็มีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเฟรนไชส์ไทย.