ธพว. อัดฉีดเงินกู้หนุน SMEs 6 หมื่นล.
SME D Bank (ธพว.) อัดเงินเพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของรัฐ จ่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำรวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท หวังเติมสภาพคล่องให้ SMEs ทุกกลุ่ม หนุนภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง ด้าน ม.หอการค้าฯ ชี้ ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและหนุน SMEs ได้มาก เชื่อดันจีดีพีปีนี้ โตมากกว่า 3% แน่
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ไตรมาส 2/2562 ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และ ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุตอนหนึ่งว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาสนี้ ปรับตัวลด 1.0 จุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยอยู่ที่ 42.7 ส่วนดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 48.8 ลดลง 1.1 จุด ขณะที่ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 51.8 ลดลง 0.7 จุด โดยทั้ง 3 ตัวส่งผลให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ระดับ 47.8 ลดลง 0.9 จุด คาดว่าไตรมา 3 จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.9 ปัจจัยหลักที่ คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ยอดขายสินค้าลดลงต่อเนื่อง กำไรหด ส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ หากมองถึงลูกค้า พบว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถการแข่งขัน ลดลงจาก 41.6 มาอยู่ที่ 40.5 ขณะที่ลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถการแข่งขันลดลง จาก 55.5 มาอยู่ที่ 54.7 เช่นกัน
โดยผลสำรวจดังกล่าวมีขึ้นก่อนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีมาตรการดังกล่าวออกมาแล้ว เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น คาดว่ามาตรการดังกล่าวกระตุ้นให้เศรษฐกิจโตอย่างน้อย 0.4% ในปีนี้ และคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 3.0%-3.5% เพียงแต่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับเข้าใจในมาตรการข้างต้น และใช้ประโยชน์จากมาตรการที่มี เพื่อให้เม็ดเงินลง่ชุมชนและถึงมือถือคนในท้องถิ่นแท้จริง
สำหรับสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการให้รัฐช่วยเหลือ คือ เรื่องการส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจ การกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการซื้อสินค้าในท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของ SMEs ไทยปรับตัวดีขึ้น
“ปัจจุบันประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบ ทั้งจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เศรษฐกิจจีนชะลอ การส่งออกติดลบ ภัยแล้ง ความเชื่อมั่นที่ลดลง ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา จึงเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญเพราะจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ไม่ต่ำกว่า 183,401 ล้านบาท หากใช้เม็ดเงินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยผลสำรวจของประชาชนและผู้ประกอบการหอการค้าไทย พบว่า คนส่วนใหญ่กว่าตอบรับกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ
ด้านนายพงชาญ สำเภาเงิน รอง กก.ผจก. รักษาการแทน กก.ผจก. SME D Bank กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นภาพกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้า ธพว. มีค่าเฉลี่ยดัชนีทุกด้านสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า เนื่องจากอยู่ในเครือข่ายของ ธพว. ที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องเงินกู้และดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด ก่อนกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้า ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ธพว. ยังคงช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มซึ่งที่ผ่านมา ได้ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท โดยในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนของ สสว. 10,000 ล้านบาท บริหารโดย ธพว.นั้น ครอบคลุมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยในระดับภูมิภาครายละ 1,000,000 บาท
ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีระดับใหญ่ขึ้นมา ก็จะมีเม็ดเงินของ ธพว.เอง เข้าไปปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสนับสนุนอีกทางหนึ่ง โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระดับ S ได้เตรียมวงเงิน 25,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 3.0% ซึ่งยังถูกกว่าท้องตลาดที่ 7.0% และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระดับ M อีก 20,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1.0% สำหรับลูกค้าทั่วไป แต่หากเป็นลูกค้าของ ธพว.จะได้รับดอกเบี้ยที่ MLR-1.5% ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มการดำเนินงานค่อนข้างดี นอกจากนี้ ยังเตรียมวงเงินอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการคงสภาพการจ้างงาน โดยคิดอัตรดอกเบี้ยเพียง 3% ใน 3 ปีแรก เพราะเชื่อว่าหลังจากนั้นธุรกิจจะอยู่ได้ด้วยตัวเองดีแล้ว
“ปีนี้ ธพว.เตรียมจะออกสินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อนิติบุคคล 555 วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.479%ต่อเดือน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยถูก นิติบุคคล 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน และบุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน เป็นต้น โดยธนาคารตั้งเป้าว่า ภายในปีนี้จะสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้กว่า 60,000 ล้านบาท” นายพงชาญระบุ พร้อมยืนยันว่า ธพว.จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลง หลังจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐบางแห่ง ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงไปก่อนหน้านี้ เนื่องจาก ธพว.คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดมากอยู่แล้ว และไม่ต้องการสร้างแรงกดดันให้ธนาคารพณิชย์ในเรื่องดังกล่าว.