นักลงทุนต่างชาติไหลเงินเข้าไทย
เงินบาทปรับตัวผันผวนในกรอบประมาณ 33.50-34.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามประเด็นข่าวภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางฟันด์โฟลว์ของต่างชาติซึ่งอยู่ในฝั่งขายสุทธิทั้งหุ้นและพันธบัตรไทย และการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ (ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์) ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับแคนาดา เม็กซิโก และจีน
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่ากลับมาช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังสหรัฐฯ เลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้ากับแคนาดาและเม็กซิโกออกไป 30 วัน ประกอบกับจีนได้ประกาศมาตรการทางภาษีกับสหรัฐฯ (มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการเพิ่มในอัตรา 10-15%) นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาทองคำในตลาดโลกซึ่งมีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 7 ก.พ. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 ม.ค.)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 3-7 ก.พ. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,493.4 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 6,231.8 ล้านบาท (แบ่งเป็นซื้อสุทธิพันธบัตร 6,291.8 ล้านบาทหักตราสารหนี้หมดอายุ 60 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 10-14 ก.พ. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.10-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ถ้อยแถลงของประธานเฟด และสถานการณ์เงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนม.ค.ของจีน และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/2567ของยูโรโซนและอังกฤษด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เงินบาทอ่อนยวบ 34.73