ต่างชาติเทขายบาทซื้อดอลลาร์
เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ แต่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ตามราคาทองคำในตลาดโลก เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวน ซึ่งมีปัจจัยลบจากข้อมูล PMI ภาคการผลิตของจีนที่ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนม.ค. ประกอบกับมีการเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการเก็บ Universal Tariffs จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ เริ่มต้นที่อัตรา 2.5% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกเดือน
อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับมา ขณะที่ แรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มชะลอลง หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดสะท้อนมุมมองของเฟดที่ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แม้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณไม่รีบร้อนที่จะปรับลดดอกเบี้ย หลังการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 4.25-4.50% ในการประชุม 28-29 ม.ค. ที่ผ่านมาก็ตาม
วันที่ 27-31 ม.ค. 2568 เงินบาทรักษาช่วงบวกไว้ได้จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์/สกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 31 ม.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 27-31 ม.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,835.9 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,936.3 ล้านบาท (แบ่งเป็นขายสุทธิพันธบัตร 1,928.3 ล้านบาทและตราสารหนี้หมดอายุ 8 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 3-7 ก.พ. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ ระดับ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลการประชุม BOE
สถานการณ์เงินทุนต่างชาติและตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนธ.ค. ดัชนี PMI และ
ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนก.พ. (เบื้องต้น) รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : บาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน