จับตาเงินบาทอ่อนค่า ใกล้แตะ 36 บาท
เงินบาทพลิกแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ รับสัญญาณจากผลการประชุมเฟด
เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคและการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงในช่วงก่อนการประชุมเฟด เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นรับสัญญาณจากประธานเฟดที่สะท้อนว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมี.ค. ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.00%) ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อาจมีโอกาสความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรอบการประชุมหลังจากเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบจากข้อมูล ISM ภาคการผลิตในเดือนม.ค. ซึ่งสะท้อนการหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตสหรัฐฯ แม้ค่าดัชนีฯ จะดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดก็ตาม
ในวันศุกร์ที่ 2 ก.พ. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ม.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 29 ม.ค.-2 ก.พ. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,980 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 7,410 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 7,400 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 10 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (5-9 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย (5 ก.พ.) ผลการประชุมกนง. (7 ก.พ.) และกระแสเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการเดือนม.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย สถานการณ์เงินเฟ้อของจีนที่สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. และดัชนี PMI ภาคบริการเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน