KKP มุ่งต่อยอด 3 แกนหลัก ธนาคาร-เวลธ์-วาณิชธนกิจ รองรับตลาดยุคใหม่
KKP มุ่งต่อยอด 3 แกนหลักธุรกิจธนาคาร-เวลธ์-วาณิชธนกิจ รองรับพัฒนาการตลาดการเงินยุคใหม่ พร้อมคุมคุณภาพสินเชื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เผยแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 มุ่งสามแกนหลัก ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รักษาการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ และสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล เดินหน้ายกระดับการให้บริการทัดเทียมสากล ธุรกิจวาณิชธนกิจ ใช้ความชำนาญในอุตสาหกรรมสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม สนับสนุนความสมดุลของแหล่งรายได้ของกลุ่มธุรกิจฯ
สำหรับผลประกอบการสำหรับปี 2566 กำไรของกลุ่มธุรกิจฯ ปรับลดลงจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะตลาดทุนที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม ช่องทางการให้บริการดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจ เช่น Dime และ Digital Edge มีการขยายฐานลูกค้ารวมกว่า 700,000 ดาวน์โหลด ด้านธุรกิจจัดการกองทุนรวม มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการปรับเพิ่มขึ้นถึง 40% สำหรับปี 2567 ตั้งเป้าอัตราการเติบโตสินเชื่อรวมไว้ที่ร้อยละ 3
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจสำหรับปี 2567 ว่า “แนวโน้มทิศทางพัฒนาการตลาดเงินและตลาดทุนของโลกชี้ให้เห็นว่าธุรกิจในปัจจุบันได้ใช้ช่องทางที่หลากหลายในการระดมทรัพยากรมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงสินเชื่อของธนาคาร ดังนั้น กลุ่มธุรกิจฯ จึงมุ่งพัฒนาต่อยอดธุรกิจบนสามแกนหลัก คือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล และธุรกิจวาณิชธนกิจ เพื่อสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งจากหลายช่องทาง และมีความยืดหยุ่นรองรับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเข้าถึงข้อมูล เทคโนโลยี และกฎระเบียบ ทั้งนี้ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะเป็นฐานของรายได้ที่เติบโตตามขนาดของ Balance Sheet ดังนั้น จึงต้องมุ่งระดมเงินฝากเพื่อตอบสนองต่อความต้องการขยายสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล และธุรกิจวาณิชธนกิจ จะมุ่งยกระดับการให้บริการให้ทัดเทียมสากล เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ที่เป็นการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ”
นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (Mr.Philip Chen Chong Tan, President, Kiatnakin Phatra Bank Public Company Limited) กล่าวว่า“สำหรับผลประกอบการของธนาคารในปี 2566 กำไรปรับลดลงจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะดอกเบี้ย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของราคารถยนต์ ดังนั้น การดำเนินการของธนาคารจึงมุ่งเน้นการจัดการและบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น พร้อมกับขยายสัดส่วนตลาดที่เครดิตมีคุณภาพดีผ่านสินเชื่อรถแลกเงิน ทั้งนี้ สำหรับปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าขยายการเติบโตสินเชื่อรวมที่อัตราร้อยละ 3 ภายใต้การบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนขยายผลจากแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจฯ อย่าง Digital Edge และ Dime เพื่อการเข้าถึงและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า”
นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (Mr. Preecha Techarungchaikul, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Phatra Bank Public Company Limited) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวข้อมูลทางการเงินของผลการดำเนินงานปี 2566 ว่า “กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 5,443 ล้านบาท ลดลง 28.4% และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 5,452 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,078 ล้านบาทและเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,119 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับปี 2566 ได้มีการพิจารณาตั้งสำรองส่วนเพิ่มเป็นจำนวนประมาณ 600 ล้านบาท ตามหลักความระมัดระวังสำหรับสินเชื่อขนาดใหญ่รายหนึ่ง ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต ณ สิ้นปี 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 164.6% นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 22,294 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 16.8% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 6,469 ล้านบาท ปรับลดลง 23.5% จากปี 2565 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 16.2% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับ 12.8%”
KKP ชี้ 4 เทรนด์ปี 2024 ส่อนัยเศรษฐกิจไทยถึงจุดพลิกผัน
ต้องเร่งหาฉันทามติสำหรับเดินหน้าต่อ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Pipat Luengnaruemitchai, Chief Economist, KKP Research, Kiatnakin Phatra Financial Group) กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2024 มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด 4 ประเด็น
1. เศรษฐกิจโลกกำลังจะเติบโตสวนทางกัน (Growth divergence) เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีทิศทางชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่จะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของโลก นำโดยสหรัฐอเมริกาที่จะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าที่คาด ขณะที่เศรษฐกิจจีนกลับเผชิญกับปัญหาชะลอตัว
2. อัตราดอกเบี้ยโลกผ่านจุดสูงสุดและเริ่มปรับตัวลดลง เงินเฟ้อโลกเริ่มปรับลดลง ทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังมีความแข็งแกร่ง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากไม่ได้นัก
3. การเมืองระหว่างประเทศเป็นประเด็นที่มีความไม่แน่นอน และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะสงคราม และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา
4. เศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวช้าและจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้น การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นยังแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีนี้ ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ 2.5% เกือบตลอดทั้งปี แต่มีโอกาสปรับลดลงได้หากการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ หรือแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดไว้
นอกจากประเด็นระยะสั้นแล้ว ยังมีปัญหาศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตต่ำลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเมื่อผ่านไปเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ตามปกติ แต่หลังจากผ่านวิกฤตมาประมาณ 2 ปี เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับที่เดิม และฟื้นตัวได้ได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นเครื่องจักรสำคัญก่อนโควิด-19 ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปได้ที่จุดเดิมจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป ขณะที่การส่งออกที่เดิมไทยเคยอาศัยห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างจีนเป็นประตูสู่ตลาดโลก แต่ในช่วง 2-3 ปีหลัง ไทยทั้งไม่สามารถขยายตัวในห่วงโซ่อุปทานโลก และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสินค้าหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก หรือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมกันนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศยังมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งปัญหาสังคมสูงอายุและกำลังแรงงานที่กำลังถดถอย ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่สะสมมาตลอดหลายทศวรรษ และการลงทุนที่หายไปเกือบ 30 ปีหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง
“เศรษฐกิจไทยตอนนี้เรียกว่ามาถึงจุดพลิกผัน สิ่งที่สำคัญกว่าอาจจะไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไรหรือจะแก้ไขอย่างไร แต่อาจจะเป็นการหาฉันทามติร่วมกันของสังคมว่าจะเริ่มแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร และเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน เพราะการแก้ไขปัญหาพวกนี้ต้องใช้เวลา อาจจะหลายทศวรรษกว่าจะเห็นผล”
กรณีตัวอย่างเช่นการปฏิรูปเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคของนายชินโสะ อะเบะ นายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2006-07 และ 2012-20 ที่นำเสนอนโยบาย “ลูกศร 3 ดอก” ที่เน้นไปที่นโยบายการเงิน นโยบายการคลังที่เน้นการสร้างความเชื่อมั่น และการนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ทั้งด้านตลาดแรงงาน การเกษตร การกำกับดูแลบริษัท ด้านกฎระเบียบต่างๆ การแข่งขันของเอกชน การขึ้นภาษีบริโภค และการนำญี่ปุ่นเข้าร่วมข้อตกลงการค้า กระนั้นก็ยังต้องใช้เวลาเกือบทศวรรษกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัว โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าว นายกอะเบะต้องยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจหลายครั้ง เพื่อสร้าง “ฉันทามติทางการเมือง” เพราะมีคนทั้งได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์นโยบายปฏิรูป