ลุ้นสัปดาห์แรกหุ้นไทยยังยืนเหนือ 1,400 จุด
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2024/01/image-8-1024x768.png)
ตลาดหุ้นผันผวนตลอดทั้งปี แต่สุดท้ายสามารถปิดบวก ยืนเหนือระดับ 1,400 จุดได้สำเร็จ ณ วันสุดท้ายของปี2566 ส่วนสัปดาห์แรกของปี (2-5 ม.ค. 2567) ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,400 และ 1,380 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ
ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นในภาพรวม โดยมีแรงหนุนจากคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปี 2567 ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ย.2566 ของไทยที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องตลอดจนแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ รวมถึงการทำ Window Dressing ช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี นักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุนก่อนวันหยุดช่วงปีใหม่ ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง
อนึ่ง หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลงแรงในช่วงปลายสัปดาห์ สวนทางภาพรวมตลาด เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบจากเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมที่จะเริ่มในช่วงต้นปี 2567
ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ธ.ค. 2566 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,415.85 จุด เพิ่มขึ้น 0.77% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 35,725.20 ล้านบาท ลดลง 0.43% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น
0.61% มาปิดที่ระดับ 411.61 จุด
สำหรับภาพรวมในปี 2566 นั้น ดัชนี SET ลดลง 15.15% มาปิดสิ้นปี 2566 ที่ระดับ 1,415.85 จุด จากระดับ 1,668.66 จุด ณ สิ้นปี 2565 โดยตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ต้นปีท่ามกลางปัจจัยกดดันทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ความกังวลเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐฯ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ประเด็นความตึงเครียดในอิสราเอล การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตลอดจนสัญญาณการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจในประเทศ
โดยดัชนี SET แตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ระดับ 1,354.73 จุด ในช่วงประมาณกลางเดือนธ.ค. ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายปี รับสัญญาณจากเฟดซึ่งบ่งชี้ว่า วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ ได้จบลงแล้ว และอาจมีการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-5 ม.ค. 2567) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,400 และ 1,380 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนธ.ค. บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนธ.ค. ของจีน ยูโรโซนและญี่ปุ่นตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของยูโรโซน