จับตาเงินบาทแข็งรับปีใหม่
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2024/01/image-7-1024x768.png)
เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือนที่ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566
โดยเงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังคงแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จากกระแสการคาดการณ์ถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ในปี 2567 หลังจากที่ดัชนีราคา PCE Price Index และ Core PCE Price Index ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดในเดือนพ.ย.
นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับ ตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติด้วยเช่นกัน
ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ธ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 ธ.ค.)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 25-28 ธ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 3,175 ล้านบาท และ 4,651 ล้านบาทตามลำดับ
ทั้งนี้ ภาพรวมในปี 2566 นั้น เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวน ในกรอบ 32.57-37.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะปิดตลาด ณ สิ้นปี 2566 ที่ 34.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น 1.3% จากระดับปิดสิ้นปี 2565 ที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือนท่ามกลางการคาดการณ์ถึงโอกาสลดดอกเบี้ยของเฟดในปี 2567
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย SET Index ปรับขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์โดยยังมีแรงหนุนจากคาดการณ์เรื่องทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ และแรงซื้อของกลุ่มสถาบันในประเทศ
เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปิดบวกได้ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566
โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปีท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ และโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังข้อมูลเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ยังแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟด ซึ่งทำให้เฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนถึงรอบการประชุม FOMC เดือนก.ค. 2566
ประกอบกับเริ่มมีความไม่แน่นอนของปัจจัยการเมืองในประเทศและจังหวะการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจไทย เงินบาทฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯได้แตะจุดสูงสุดแล้วที่ 5.25-5.50% และมีโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงในปี2567 นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน
สัปดาห์ถัดไป (2-5 ม.ค. 2567)
ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ทิศทางเงินทุนต่างชาติและอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 66 ของไทย
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนธ.ค. 66 ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนแรงงานเดือนพ.ย. 66 บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. 66 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. 66 ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 66 ของยูโรโซนเช่นกัน