เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือน
เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือนครึ่ง เงินบาทปรับตัวผันผวนในช่วงก่อนการประชุมเฟด โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคก่อนจะอ่อนค่ากลับมาในช่วงกลางสัปดาห์ตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกที่ไม่สามารถประคองตัวเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ได้
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับมาบางส่วนตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการประชุมเฟด
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าหลังการประชุมเฟด ซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 5.25-5.50% และมีท่าทีในเชิงคุมเข้มน้อยกว่าที่ตลาดกังวล ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่า โอกาสที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมของเฟดในระยะข้างหน้า น่าจะลดน้อยลง
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่คาดด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 3 พ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ) เทียบกับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ต.ค.)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-3 พ.ย.2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,171 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 469 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 464 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (6-10 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.40-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนต.ค. สัญญาณเงินทุนต่างชาติทิศทางสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์ในอิสราเอล รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ตัวเลขการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน