ต่างชาติซื้อพันธบัตรไทยดันเงินบาทแข็งค่า

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อน โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ (หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลง) ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทยที่ขยายตัวมากกว่าที่คาด และการกลับเข้ามาซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาด หนุนบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ฯ ให้แข็งค่าขึ้นเงินบาทกลับมาปรับตัวในกรอบแคบในช่วงปลายสัปดาห์ขณะที่แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลง หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯอายุ 10 ปีไม่สามารถทรงตัวเหนือระดับ 5.00% ได้ ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามสถานการณ์ในอิสราเอล และผลการประชุมเฟดในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.
ในวันศุกร์ที่27 ต.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ต.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่24-27 ต.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,598 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,695 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร10,973 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,278 ล้านบาท)
ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่า แต่ดัชนีหุ้นไทยยังปรับตัวลงต่อเนื่อง สัปดาห์ถัดไป (30 ต.ค. – 3 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสาคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (31 ต.ค.-1 พ.ย.) รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ย. ของธปท. สัญญาณเงินทุนต่างชาติรวมถึงสถานการณ์ในอิสราเอล
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนต.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ และ BOE ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของยูโรโซน และข้อมูล PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. ของจีน ยูโรโซนและอังกฤษด้วยเช่นกัน