ต่างชาติไหลเงินออก กดบาทอ่อนยวบ
เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 11 เดือนที่ 37.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ฟื้นกลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคงมีท่าทีพร้อมคุมเข้มต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก และสถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติซึ่งอยู่ในฝั่งขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าและฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 6 ต.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 ก.ย.)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 2-6 ต.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 8,855 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,072 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 3,069 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1,003 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (9-13 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.60-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาคและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อและดัชนีความเชื่อมั่นในมุมมองผู้บริโภคเดือนต.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟด เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวน ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน