ลุ้นเงินอ่อนค่าเกือบหลุด 37 บาท
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือนครึ่งที่ 36.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวได้บางส่วนปลายสัปดาห์เงินบาททยอยอ่อนค่าลง
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ท่ามกลางสัญญาณคุมเข้มทางการเงินจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ซึ่งสะท้อนโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้
นอกจากนี้การปรับตัวลงของราคาทองคำและการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกก็เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน อนึ่งเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า แม้ว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ระดับ 2.50% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดกลับมารอติดตามความเสี่ยงของการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
โดยในวันศุกร์ที่ 29 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.01 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 ก.ย.)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 25-29 ก.ย.2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,025 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 11,695 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 6,520 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5,175 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (2-6 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.20-36.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ย. รายงาน JOLTs ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนก.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน