ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.04 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.04 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.92-35.04 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอ่อนค่าและแข็งค่าไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยรวมเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานที่ออกมาดีกว่าคาดและความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวน
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างทยอยขายหุ้น เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole วันนี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.35%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาลดลง -0.41% กดดันโดยแรงขายลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของทั้งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และประธานเฟด ในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole โดยผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (ASML -3.5%, Infineon Tech -2.5%) ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ตามความหวังผลประกอบการบริษัท Nvidia ของสหรัฐฯ ที่จะออกมาแข็งแกร่ง
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ และโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ยังคงหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.24% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินสัญญาณการปรับนโยบายการเงินจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole ก่อนที่จะปรับสถานะการลงทุนที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี เรายังคงแนะนำ ทยอยเข้าลงทุนบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวหรือในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นอาจจำกัดอยู่ใกล้โซนจุดสูงล่าสุดแถว 4.30% ขณะที่ Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวก็ยังมีความคุ้มค่า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อได้และเฟดอาจคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดหุ้นผันผวนและปิดรับความเสี่ยง ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 104 จุด (กรอบ 103.5-104.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 1,944 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรามองว่า ในช่วงที่ราคาทองคำย่อตัวลง อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำเพื่อเก็งกำไรการรีบาวด์ขึ้นระยะสั้นได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาประธาน/ผู้ว่าธนาคารกลางหลักในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟด ที่เมือง Jackson Hole โดยจะเริ่มจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงราว 18.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ประธาน ECB จะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกกี่ครั้ง หลังข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนล่าสุด ส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น ถัดมาในช่วงราว 21.05 น. ตามเวลาในประเทศไทย จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาใกล้ชิด ว่าประธานเฟดจะมีมุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟดอย่างไร โดยตลาดจะจับตาทั้งแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โอกาสที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) และระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมของเฟด ว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าอดีตหรือไม่
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการส่งออกและการนำเข้า (Exports & Imports) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ยังคงชะลอตัวลง อาจกดดันให้ ยอดการส่งออก แทบไม่ขยายตัวจากปีก่อนหน้า ส่วนยอดการนำเข้าก็จะยังคงหดตัวอยู่ และโดยรวม ยอดดุลการค้าอาจกลับมาขาดดุลราว -1.3 พันล้านดอลลาร์ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทเรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจเริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole ซึ่งต้องระวังว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ และเฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ยลงจนกว่าจะถึงการประชุมเดือนมิถุนายนปีหน้า อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า หากเงินบาททยอยอ่อนค่าลง การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากปัจจัยกดดันเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อย่าง ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยก็ได้คลี่คลายลงแล้ว หลังการโหวตเลือกนายกฯ เสร็จสิ้นลง ทำให้เรามองว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญถัดไป
อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติมากขึ้น แม้ว่า แรงซื้อหุ้นไทยอาจจะน้อยกว่าที่เราคาดหวังไว้มากก็ตาม ทำให้เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าเพิ่มเติมได้ หากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน บรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ต่ำกว่าระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในการเข้าซื้อสกุลเงินต่างประเทศได้เช่นกัน ทำให้เราประเมินว่า หากเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น ก็อาจติดโซนแนวรับแถว 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.15 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด
และมองกรอบเงินบาทในช่วง 34.85-35.20 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด