ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 33.96-34.23 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ตลาดยิ่งคาดหวังว่าเฟดจะใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หลังสถาบันการเงินใหญ่สหรัฐฯ ต่างรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ สถาบันการเงินใหญ่สหรัฐฯ อย่าง Morgan Stanley +6.5%, BofA +4.4% ที่ต่างรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังว่า เฟดใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ทั้งยอดค้าปลีกและยอดผลผลิตอุตสาหกรรมที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นต่อ ทำให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.71%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้น +0.62% นำโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare โดยเฉพาะ Novartis +4.6% ที่ได้แรงหนุนจากการปรับคาดการณ์ผลกำไร อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปนั้นถูกกดดันโดยการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (L’Oreal -1.4%, Hermes -1.4%) ตามความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน
ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในช่วงที่ผ่านมาบ้าง แม้ว่าโดยรวมผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่า เฟดจะใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยใกล้ระดับ 3.80% อีกครั้ง ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าสะสมการลงทุนในบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% อีกครั้ง ก็จะเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจมาก
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยรวมแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 99.9 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 99.7-100.1 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ซึ่งเรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจมาจากการปิดสถานะ Short USD ของผู้เล่นบางส่วนในตลาด เพื่อขายทำกำไรได้ ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็มีจังหวะอ่อนค่าลงในช่วงที่ตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าคาด ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวขึ้นมาใกล้โซน 1,980-1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อจากฝั่งยุโรป (ยูโรโซนและอังกฤษ) เพื่อประเมินโอกาสธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเรามองว่า มีโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +50bps ในรอบการประชุมเดือนสิงหาคม หากอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เดือนมิถุนายน ชะลอลงไม่มากนัก สู่ระดับ 8.2% และ 7.1% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คือ การโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 2 ของไทย ซึ่งเรามองว่า ผลการโหวตอาจยังคงสะท้อนภาพสถานการณ์การเมืองไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน และชี้ว่าการโหวตเลือกนายกฯ อาจมีความยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินและฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทเรามองว่า เงินบาทมีโมเมนตัมการแข็งค่าที่ชัดเจน (มากกว่าที่เราคาดไว้มาก) ทำให้เงินบาทสามารถแข็งค่าหลุดทุกโซนแนวรับที่เราประเมินไว้ อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นแรงซื้อของบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้นำเข้ากลับเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะในช่วงโซน 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ช่วงดังกล่าวอาจยังพอเป็นแนวรับได้บ้าง แต่หากเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นหลุดโซนดังกล่าว เรามองว่า แนวรับถัดไปก็ไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ (ช่วง 13.00 น.) ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ และค่าเงินดอลลาร์ผันผวนได้พอสมควร หากอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาไม่ได้เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เช่น อัตราเงินเฟ้อชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินปอนด์ อ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งก็พอจะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน
และที่สำคัญ ควรติดตามผลการโหวตนายกฯ รอบที่ 2 ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทเผชิญความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการโหวตได้
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงรับรู้รายงานผลประกอบการ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.15 บาท/ดอลลาร์