SCB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก
ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันทีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 นั้น
เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราสูงสุด 0.30% ต่อปี เพื่อช่วยส่งเสริมการออมเงินในระยะยาวและช่วยให้ผู้ฝากเงินมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น พร้อมกับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ต่อปี เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งผ่านการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นการปรับให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกลับมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวม ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2566 เป็นต้นไป
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แม้เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากต่างประเทศ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพของระบบธนาคารในสหรัฐฯและยุโรปอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯและยุโรปที่ยังคงอยู่ในระดับสูงท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ธนาคารจึงได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.30% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสะท้อนต้นทุนทางการเงินในระบบที่สูงขึ้น โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.620% เป็น 6.870% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.350% เป็น 6.600% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.895% เป็น 7.145% ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2566 เป็นต้นไป” ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าของธนาคารจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ ดังนั้น ธนาคารจึงยังคงมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกค้าในด้านต่างๆ ต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ยังเปราะบาง โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต