กสิกร วิชั่น ไฟแนลเชียล ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น 67.50% ในธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซีย

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด (KASIKORN Vision Financial Company Pte. Ltd) (“KVF”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารกสิกรไทย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข (Conditional Sale and Purchase Agreement) (“CSPA”) กับนายอาริม มาคุส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแมสเปี้ยน โดย KVF จะเข้าถือหุ้นรวม 67.50% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่าประมาณ 7,556 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย และสามารถเข้าทำธุรกรรมได้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565

สำหรับการได้มาซึ่งหุ้น (Share Acquisition) โดย KVF จะซื้อหุ้นธนาคารแมสเปี้ยนอีก 30.01% ซึ่งจะทำให้การถือหุ้นของกลุ่มธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 40.00% จาก 9.99% ที่ธนาคารถือครองอยู่เดิมตั้งแต่ปี 2560 หลังจากนั้น KVF จะทำการซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Rights Issue) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มธนาคารกสิกรไทยในธนาคารแมสเปี้ยนรวมเป็น 67.50% และจะทำให้ธนาคารแมสเปี้ยนมีทุนขั้นต่ำ ประมาณ 210 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การเข้าซื้อธนาคารแมสเปี้ยนในครั้งนี้ จะทำให้สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศอินโดนีเซียได้ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนที่ต่ำกว่าการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ (เงินลงทุนขั้นต่ำ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ทำให้มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ยังเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการขยายธุรกิจของธนาคาร เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลในอินโดนีเซียช่วยสนับสนุนให้แนวโน้มบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มมีแนวโน้มสดใสไปพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 และสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตที่สำคัญในการมุ่งสู่ความเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคที่แท้จริง ในการเชื่อมโยงธุรกิจของธยาคารกสิกรไทยใน AEC จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (AEC+3) ที่จะมีพลวัตการเติบโตสูงต่อไปในอนาคต
ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าซื้อธนาคารแมสเปี้ยนซึ่งเป็นธนาคารท้องถิ่นที่มีศักยภาพและจุดแข็งในการเข้าถึงกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดย่อมซึ่งสอดรับกับความเชี่ยวชาญของธนาคารกสิกรไทยในการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมเพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านโมบายแบงก์กิ้งผ่านแอพพลิเคชั่น K-PLUS ในการนำเสนอและส่งมอบนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมให้แก่ลูกค้าในอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตของเทคโนโลยีทางการเงินที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน และจะทำให้ K-PLUS กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคที่แท้จริง (True Regional Platform)

ทั้งนี้ กลยุทธ์ทางธุรกิจของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่
ตั้งเป้าเร่งการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มองค์กรหรือธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่ลงทุนโดยตรงในอินโดนีเซีย (TDI) ธุรกิจต่างชาติที่ลงทุนในอินโดนีเซีย ตลอดจนกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและการผนึกกันเป็นหนึ่งเดียวของตลาดภายในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังที่จะให้บริการธนาคารที่ครอบคลุมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าองค์กร ทั้งบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตและบริการบัญชีเงินเดือนสำหรับพนักงานองค์กร
กลุ่มธุรกิจ SMEs
มุ่งสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัว ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อหรือไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางการเงิน รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนี้ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมและการขยายตัวของความเป็นเมืองในอินโดนีเซีย ธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจ (Supply Chain Financing) แก่ธุรกิจ SMEs ท้องถิ่น เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถเติบโตไปพร้อมกับห่วงโซ่มูลค่าของประเทศและของโลกได้ ทั้งนี้ จะนำใช้ความสามารถทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งในการปรับปรุงการชำระเงินและบริการธุรกรรมทางธนาคารเพื่อให้สามารถเข้าถึงธุรกิจ SMEs ในระดับท้องถิ่นอีกจำนวนมากในอินโดนีเซียที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ
กลุ่มลูกค้ารายย่อย
ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินเชื่อดิจิทัล และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจ MSME จำนวนมากในอินโดนีเซีย สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกและง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะใช้ K-PLUS ในการให้บริการโมบายแบงก์กิ้งเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในทุกด้านของบริการทางการเงิน
ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถผลักดันธนาคารแมสเปี้ยนให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ 5 ปีนับจากนี้ โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคชวาตะวันออก (East Java) ภายในปี 2570

เกี่ยวกับ ธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ก่อตั้งเมื่อปี 2532 ณ เมือง สุราบายา โดยเริ่มดำเนินการในฐานะธนาคารพาณิชย์ เมื่อปี 2533 และให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปี 2538 ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย เมื่อปี 2556 ธนาคาร Maspion มีสำนักงานรวม 46 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานใหญ่ 1 แห่ง สาขา 10 แห่ง สาขาย่อย 26 แห่ง สำนักเงินสด 7 แห่ง และสำนักงานปฏบัติการ 2 แห่งที่กระจายอยู่ในสุราบายา จาการ์ตา เซมารัง เดนปาซาร์ เมดาน บันดุง มากัสซาร์ โซโล มาลัง เปอเวอกาโต และปาเล็มบัง

ข้อมูลเพิ่มเติม: กสิกร วิชั่น ไฟแนลเชียล ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น 67.50% ในธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซีย
1.สรุปรายละเอียดธุรกรรมเบื้องต้น
ข้อตกลงการซื้อขายหุ้นประกอบด้วยสองขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1: การได้มาซึ่งหุ้น (Share Acquisition) โดย KVF จะซื้อหุ้นธนาคารแมสเปี้ยนจากผู้ถือหุ้นปัจจุบัน 30.01%
ขั้นตอนที่ 2: ธนาคารแมสเปี้ยนจะทำการออกหุ้นเพิ่มทุน (Rights Issue) โดย KVF จะใช้สิทธิเพิ่มทุนในสัดส่วนของ KVF และธนาคาร และรับโอนสิทธิในการเพิ่มทุนบางส่วนจากผู้ถือหุ้นของธนาคารแมสเปี้ยน เพื่อเพิ่มสัดส่วนของ KVF และธนาคารรวมกันไม่น้อยกว่า 67.50%
แหล่งที่มาของเงินทุน
ธนาคารได้ดำเนินการเพิ่มทุนใน KVF เพื่อเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้ โดยธนาคารใช้แหล่งเงินทุนจากการจัดหาเงินทุนตามปกติของธนาคารและไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาทำธุรกรรมดังกล่าว
ข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแมสเปี้ยน
ธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2532 ณ เมือง สุราบายา โดยเริ่มดำเนินการในฐานะธนาคารพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ.2533 และให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปี พ.ศ.2538 ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2556 ธนาคาร Maspion มีสำนักงานรวม 46 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานใหญ่ 1 แห่ง สาขา 10 แห่ง สาขาย่อย 26 แห่ง สำนักเงินสด 7 แห่ง และสำนักงานปฏบัติการ 2 แห่งที่กระจายอยู่ในสุราบายา จาการ์ตา เซมารัง เดนปาซาร์ เมดาน บันดุง มากัสซาร์ โซโล มาลัง เปอเวอกาโต และปาเล็มบัง นากจากสำนักงานและสาขาธนาคารแมสเปี้ยนยังมีช่องทางอื่นๆ อีกหลายช่องทาง เช่นรถโมบายสาขาเคลื่อนที่ 7 คัน จุดรับชำระ 3 แห่ง เครื่องรับฝากถอนอัตโนมัติรวม 73 เครื่อง ระบบอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และระบบโมบายแบงก์กิ้ง เป็นต้น โดยมีพนักงานรวม 698 คน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ธนาคารแมสเปี้ยนมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 8,172,881 ล้านรูเปีย (เทียบเท่า 580 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ1 หรือ 19,925 ล้านบาท1 โดยประมาณ) มีเงินรับฝากจำนวน 11,899,169 ล้านรูเปีย (เทียบเท่า 845 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ1 หรือ 29,010 ล้านบาท โดยประมาณ)
เหตุผลในการเข้าทำธุรกรรม
KVF เล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียทั้งทางการค้าและการลงทุนที่มีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเข้าไปลงทุนในครั้งนี้ นอกจากจะนำมาซึ่งความเติบโตใหม่สู่กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย และขยายขอบเขตการให้บริการลูกค้าไทยที่ลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย ตลอดจนลูกค้าท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารบรรลุเป้าหมายในการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคอาเซียนบวกสาม (AEC+3) อีกด้วย
เปลี่ยนแผนการจากเมื่อเมษายนที่ผ่านมา
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่เคยแจ้งต่อสื่อว่ามีแผนจะเข้าถือหุ้น 40% นั้น เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด จึงทำให้มีการเลื่อนออกไปและได้มีการทบทวนแผนการดำเนินการใหม่ จึงทำให้ปรับเปลี่ยนเป็นการเข้าซื้อหุ้นในรูปแบบปัจจุบันที่ 67.5% ผ่านทาง KVF