ไอแบงก์ ลงนามความร่วมมือกับ คณะกรรมการกลางอิสลามฯ
ไอแบงก์ ลงนามความร่วมมือกับ คณะกรรมการกลางอิสลามฯ ขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนมุสลิมภายใต้ “ โครงการชุมชนซื่อสัตย์
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนมุสลิมภายใต้ “โครงการชุมชนซื่อสัตย์” ระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยมี นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนาม และมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในนามตัวแทนจุฬาราชมนตรี เป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมอัลมีรอซ ซ.รามคำแหง 5 กรุงเทพฯ
นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กล่าวว่า “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์แห่งเดียวของประเทศไทย ปัจจุบันดำเนินกิจการเป็นปีที่ ๑๘ มีจุดมุ่งหมายที่จะได้รับความเชื่อมั่น และไว้วางใจในการเป็นธนาคารหลักของพี่น้องมุสลิม ผู้ประกอบการทั่วไปที่ทำธุรกิจกับมุสลิม ตลอดจนเป็นทางเลือกของประชาชนทั่วไปทั้งประเทศ
ธนาคารตระหนักดีว่า ธนาคารถูกจัดตั้งมาเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้อง มุสลิมและพี่น้องในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้โดยในปี ๒๕๖๔ ธนาคารได้ริเริ่ม “โครงการชุมชนซื่อสัตย์” เป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้พี่น้อง มุสลิมเข้าถึงระบบสถาบันการเงิน และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องที่ติด อยู่ในกับดักความเป็นหนี้ที่ไม่เป็นธรรมและยังเป็นการกู้ยืมเงินที่มีดอกเบี้ยขัดหลักต่อชะรีอะฮ์ด้วย
โครงการชุมชนซื่อสัตย์ เป็นการสนับสนุนทางการเงินด้วยการให้สินเชื่อผ่านบุคคลที่ได้รับการ แต่งตั้งเป็นตัวแทน จากคณะกรรมการมัสยิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยตัวแทนดังกล่าวต้องเป็นบุคคลสัญญาไทย นับถือศาสนาอิสลาม มีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีแต่ไม่เกิน ๗๐ ปี ประกอบอาชีพสุจริตที่ไม่ขัดต่อหลัก
ศาสนาอิสลามและมีประวัติทางการเงินที่ดี โดย วงเงินสินเชื่อที่ธนาคารพิจารณาให้ตัวแทนมัสยิด จะขึ้นอยู่กับจำนวนสัปปุรุษของแต่ละพื้นที่ เริ่มต้นที่ ๒๐๐,๐๐๐ บาท และสูงสุด ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
วงเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทสำหรับมัสยิดที่มีสัปปุรุษตั้งแต่ ๒๐๐ ถึง ๕๐๐ คน
วงเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาทสำหรับมัสยิดที่มีสัปปุรุษตั้งแต่ ๕๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ คน และ
วงเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทสำหรับมัสยิดที่มีสัปปุรุษตั้งแต่ ๑,๐๐๐ คนขึ้นไป
ผู้แทนมัสยิดจะเป็นผู้พิจารณาให้สินเชื่อแก่สัปปุรุษแต่ละราย ตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทต่อราย ผ่อนชำระคืนภายใน ๒๔ เดือนหรือตามที่ผู้แทนมัสยิดเห็นสมควร
โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ จนถึง ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ จากมัสยิดจำนวนกว่า ๔,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ ธนาคารขับเคลื่อนโครงการเข้าสู่มัสยิดสำเร็จแล้ว ๙ จังหวัดได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กรุงเทพฯ และอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้นจำนวน ๓๖๗ มัสยิด เบิกใช้วงเงินแล้วจำนวน ๘๓ แห่ง และถูกส่งต่อไปยังพี่น้องมุสลิมแล้วกว่า ๒,๕๐๐ คน เป็นเงินกว่า ๒๕ ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากการนำร่องโครงการในช่วงระยะเวลา ๖ เดือนที่ผ่านมา ธนาคารเล็งเห็นเสมอว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคณะผู้บริหารกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย จะ เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ เพื่อร่วมกันยกระดับความเป็นอยู่พี่น้องมุสลิมให้สามารถเข้าถึง แหล่งเงินของสถาบันการเงินและห่างไกลจากเงินกู้นอกระบบที่ขัดต่อหลักอิสลามให้สำเร็จได้ ” นายวุฒิชัย กล่าว