สกพอ.ผนึก 3 แบงก์รัฐ จัดสินเชื่อหนุน ผปก.ทุกกลุ่มใน EEC
สกพอ. จับมือ “ออมสิน – EXIM BANK – บสย.” จัดสินเชื่อเฉพาะพื้นที่ EEC หวังขับเคลื่อนบริการธุรกรรมทางการเงินครบทุกมิติ เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการทุระดับ เติมโอกาสสร้างรายได้ ยกระดับความสามารถการแข่งขัน เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทยยั่งยืน ด้าน แบงก์ออมสิน ลั่น ไม่อั้นเงินกู้ในโครงการนี้
วันที่ 27 ต.ค. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. นายวิทัย รัตนากร ผอ.รธนาคารออมสิน นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กก.ผจก.เอ็กซิมแบงค์ และนางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายอาคม ย้ำว่า พื้นที่พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถูกคาดหวังจากรัฐบาลให้เป็นพื้นที่การลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการจะกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง สกพอ. และสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 3 แห่งจะมีส่วนเติมเต็มและส่งเสริมให้การเกิดการลงทุน รวมถึงขับเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ได้เป็นอย่างดี
ด้าน นายคณิศ ระบุว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการธุรกรรมทางการเงินประเภทต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัยสนับสนุนแก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ EEC ให้เข้าถึงบริการทางการเงินในพื้นที่ได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่อง บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน ธุรกิจ SMEs ที่รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงทางธุรกิจ
พร้อมกันนี้ จะได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อการบริการด้านการเงินการลงทุน การนำเข้า ส่งออก และการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการนักลงทุนได้ครอบคลุมทุกความต้องการ มีความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขัน และสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ อีอีซี อย่างยั่งยืน
ส่วน นายวิทัย กล่าวว่า ธนาคารออมสิน พร้อมให้บริการธุรกรรมทางการเงินในพื้นที่ EEC โดยไม่เน้นแสวงหาผลกำไร แต่ต้องการเพื่อสังคม รวมถึงเน้นการพัฒนา ควบคู่กับการดูแลประชาชน ทั้งนี้ จะไม่ตั้งเพดานวงเงินกู้ หากกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการสินเชื่อและมีคุณสมบัติเพียงพอ ธนาคารฯก็พร้อมปล่อยกู้ต่อไป สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เตรียมไว้ คือ บริการ GSB Smooth Biz for EEC เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ให้แก่กลุ่มเป้าหมายนิติบุคคล ซึ่งประกอบธุรกิจผลิต การให้บริการ การพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม หรือ Social Enterprise ในพื้นที่ EEC วงเงินกู้ 1–20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.99 % ต่อปี ระยะเวลาตามสัญญา 1-10 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วง 2 ปีแรก และบริการสินเชื่อประชาชนสุขใจ
สำหรับ ผู้ประกอบการภายในพื้นที่ อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการใช้หนี้นอกระบบ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มค้าขายหรือให้บริการรายย่อย ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อจำหน่าย วงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะเวลาตามสัญญา 3-10 ปี
ขณะที่ นายรักษ์ เสริมว่า EXIM BANK เตรียมให้บริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น สินเชื่อ “EXIM EEC Plus Loan” เป็นวงเงินหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ และทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนใน EEC หรือต้องการปรับปรุงเครื่องจักร โรงงานระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล โดยเฉพาะใน อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) และ อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของไทยที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะยาว รวมถึง โครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan ที่จะทำร่วมกับ บสย.
ด้าน นางวสุกานต์ กล่าวว่า บสย. ได้จัดบริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น บริการ บสย. ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan และ บริการ บสย. ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อประชาสุขใจ สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการกู้ยืมเงินนอกระบบ ทั้งนี้ บสย. ยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการให้มีค่าใช้จ่ายลดลงอีกด้วย และ บสย. ยังมีโครงการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในการพัฒนาปรับปรุงธุรกิจ ช่วยแนะนำการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามผลกระทบในเวลานี้ และสามารถพัฒนากิจการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในระยะต่อไป.