EXIM BANK ผุด 4 ม. หนุนส่งออกครึ่งปีหลัง – สร้างนักรบหน้าใหม่

EXIM BANK ชู! ภาคส่งออก “พระเอกเศรษฐกิจไทย” ชี้! หลังครึ่งแรกปี’64 ขยายตัว 15.5% คาดทั้งปีโตไม่ต่ำกว่า 10% “ดร.รักษ์” ดัน 4 ม.หนุนภาคส่งออก “พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ – สร้างSMEs ผู้ส่งออกรายใหม่ – พัฒนาการค้าออนไลน์ – บริการครบวงจรเพื่อผู้ส่งออก” พ่วงตั้งเป้าดึง “รายใหญ่” ดูแลซัพพลายเชน 1: 500 หวังสร้าง “นักรบส่งออกหน้าใหม่” ลุยการค้าโลก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กก.ผจก. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงผลการดำเนินงานช่วงครึ่งแรกปี 2564 พร้อมคาดการณ์และแผนดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง ว่า ท่ามกลางปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีปัญหาที่คาดว่า ทั้งปีจะเติบโตได้ราว 1% เศษ อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การส่งออกของไทยเติบโตในสัดส่วนมากถึง 15.5% นับเป็นพระเอกของระบบเศรษฐกิจไทย โดยได้อานิสงฆ์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาดี สินค้าไทยบางส่วนตอบรับ New Normal ได้ดี และเงินบาทอ่อนค่า สอดรับการเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่าง สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ยุโรปบางประเทศ รวมถึงประเทศในอาเซียน อย่างเวียดนาม ที่เติบโตอย่างมากและมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้สูงถึง 6%
สำหรับ การดำเนินการในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ณ สิ้นเดือน ก.ค.2564 ธนาคารฯมีสินเชื่อคงค้าง 140,600 ล้านบาท โดยมีปริมาณธุรกิจด้านสินเชื่อ 104,210 ล้านบาท ปริมาณธุรกิจรับประกัน 111,387 ล้านบาท ในส่วนของการอนุมัติสินเชื่อใหม่มีมากถึง 29,503 ล้านบาท โดยมีสัดส่วน NPL เพียง 3.89%

“ประเทศคู่ค้าของไทยมีการปรับตัวรับสถานการณ์โควิดฯ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ถือเป็นโอกาสในการส่งออกของไทย ซึ่งถือเป็นพระเอกในทางเศรษฐกิจ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะยังคงเป็นพระเอกสำคัญ เชื่อว่าทั้งปีการส่งออกของไทยคงเติบโตไม่ต่ำกว่า 10%” ดร.รักษ์ ระบุและว่า
เพื่อให้การส่งออกยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ธนาคารฯ จึงขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ด้วยการเร่งขับเคลื่อนการฟื้นตัวของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยอย่างรวดเร็วตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศโดย “พัฒนา 4 ปัจจัยสู้วิกฤตโควิด-19 ควบคู่กับการตอบโจทย์โลกวิถีใหม่” เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2564 ดังนี้

1. พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ตอบรับกระแส New Normal โดยธนาคารฯ จะเป็น Lead Bank สนับสนุนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ พลังงานทดแทน พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมสีเขียว ดิจิทัล และสุขภาพ (Green, Digital, Health : GDH)
2. พัฒนา SMEs ให้เป็นผู้ส่งออกรายใหม่เพิ่มมากขึ้น จากจำนวนผู้ส่งออก SMEs ของไทยในปัจจุบันมีไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งประเทศ 3.1 ล้านราย ซึ่งธนาคารฯพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำและอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs ในทุกระดับ ผ่านกิจกรรมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC) รวมทั้งให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่จะทำให้ SMEs เข้าสู่ธุรกิจส่งออกได้ทันที อาทิ สินเชื่อเครือข่ายครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs ที่เป็น Suppliers ของผู้ประกอบการรายใหญ่โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม
“เราตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนผู้ส่งออกที่เป็น SMEs จากเดิมที่มีไม่ถึง 1% เป็น 5-10% โดยให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ 1 ราย ดูแลช่วยเหลือและผลักดันให้ซัพพลายเชนของตัวเองราว 500 ราย ซึ่งหากดึงให้รายใหญ่เข้าร่วมโครงการ 10 ราย ก็จะมีซัพพลายเชนที่เป็น SMEs สู่เส้นทางการส่งออกไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย” ดร.รักษ์ ย้ำ

3. พัฒนา Pavilion สำหรับการค้าออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “EXIM Thailand Pavilion” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรายเล็ก ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงช่องทางดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการค้าขาย การโพสต์สินค้า ตลอดจนขีดจำกัดด้านเงินทุน มีโอกาสค้าขายกับคู่ค้าในต่างประเทศทางออนไลน์ได้อย่างประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินจาก EXIM BANK และหน่วยงานพันธมิตรควบคู่ไปด้วย
และ 4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจรเพื่อเสริมสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ไทย รวมทั้ง มาตรการ “พักหนี้” และ “เติมทุน” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้า และนักลงทุนจากผลกระทบของโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย
เอ็มดี. EXIM BANK กล่าวอีกว่า การพัฒนาดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับ นโยบาย Dual-track Policy ในการทำหน้าที่เป็น “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)” ขับเคลื่อนการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยให้ก้าวผ่านภาวะวิกฤตและมีโมเมนตัมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และยั่งยืน มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในโลกยุคใหม่

ขณะเดียวกัน ธนาคารฯ ยังทำหน้าที่เป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs(One Stop Trading Facilitator for SMEs)” ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของภาคธุรกิจสามารถผันตัวเป็นผู้ส่งออกและขยายธุรกิจส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน
โดย ธนาคารฯจะเร่ง ‘ซ่อม’ ด้วยการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่วิกฤตและกระตุ้นให้ตลาดกลับมาน่าสนใจ ‘สร้าง’ อุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจในโลกอนาคต ‘เสริม’ ความสมดุลของการค้าและการลงทุนในตลาดหลักควบคู่กับตลาด New Frontiers รวมทั้งบุกเบิกโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ ขณะเดียวกัน จะเป็นผู้ให้บริการครบวงจรร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการเติมความรู้ ทุน และศักยภาพ เพื่อช่วยให้ SMEs ค้าขายระหว่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จและเป็นส่วนหนึ่งของSupply Chain ของผู้ส่งออกที่แข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างมั่นใจ
“EXIM BANK จะเร่งพัฒนาปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้ภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยเติบโตได้แม้ในภาวะวิกฤตและยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่ง EXIM BANK พร้อมเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและให้เครื่องมือทางการเงินสำหรับบริหารจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักร และเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า แม้ว่าผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงในระยะสั้น แต่ภูมิคุ้มกันของผู้ส่งออกคือ ความแตกต่างอย่างโดดเด่นของสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ภายใต้วิถีใหม่ในระยะข้างหน้าได้” ดร.รักษ์ ย้ำ.