EXIM BANK ตั้งเป้าเพิ่มนักรบ “SMEs ส่งออก” แสนราย
EXIM BANK สร้าง “นักรบเศรษฐกิจเลือดไทย” ตั้งเป้าเพิ่ม “SMEs ส่งออก” จาก 3 หมื่น เป็น 1 แสนราย ผ่านโมเดลแห่งพึ่งพาและพึ่งพิง เน้นรายใหญ่ช่วย Suplychain พร้อมเปิดเวทีระดมสมอง ชี้ทางรอด SMEs ไทยต้องรุกตลาดส่งออก พ่วงอัดบริการใหม่ “สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร” เสริมสภาพคล่องต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) จัดเวทีระดมสมองในงาน “EX1M Solution Forum” Ep. 1 หัวข้อ “อนาคต SMEs ไทยเติบโตสู่ Supply Chain โลก” ผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อช่วงสายวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ทั้งนี้ ดร.พสุ โลหารชุน ปธ. กก. EXIM BANK กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดงานฯ ว่า เวทีระดมสมองครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมี SMEs เป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ แต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและภาคส่งออกไทยไปข้างหน้าได้ดีมากเท่าที่ควร ทางออกหรืออาจจะเป็นทางรอดของปัญหา ได้แก่ การทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการเงิน อย่าง EXIM BANK และภาคธุรกิจเพื่อสร้าง Supply Chain ที่แข็งแรง
ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถสนับสนุนและเสริมความแข็งแรงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน โดยมีเครื่องมือทางการเงินและการบริหารความเสี่ยงเป็นกลไกช่วยให้ทุกภาคส่วนดำเนินธุรกิจไปได้อย่างไม่ติดขัด แม้จะได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกทั่วโลก
ด้าน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กก.ผจก.EXIM BANK กล่าวว่า ปัญหาของ SMEs ไทย มีลักษณะย้อนแย้งเชิงโครงสร้าง ในจำนว 3.1 ล้านราย หรือ 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งระบบ แต่มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจเพียง 35% ของ GDP รวมเท่านั้น สาเหตุสำคัญมาจาก SMEs ไทยส่วนใหญ่ค้าขายภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผู้ส่งออก SMEs มีจำนวนไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งระบบ
ซึ่งการขยายตลาดภายในประเทศมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น เศรษฐกิจไทยโตต่ำ โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีดีพีเฉลี่ยขยายตัวเพียง 2% อีกทั้งยังตลาดมีขนาดไม่ใหญ่ จำนวนประชากรเพียง 66 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมากถึง 18% ของประชากรรวม
ดังนั้น ทางรอดของ SMEs ไทย คือ การเข้าไปเชื่อมโยงวงจรการค้าระหว่างประเทศ โดย แนวทางแรก คือ การยกระดับไปเป็นผู้ส่งออก ที่อาจต้องใช้ระยะเวลาพัฒนาองค์ความรู้และเสริมประสบการณ์ด้านต่างๆ หรือ แนวทางที่สอง ทำได้ทันที ได้แก่ การสนับสนุนให้ SMEs เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของผู้ส่งออก โดยให้ธุรกิจส่งออกที่มีความแข็งแรงและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการSupply Chain ค้ำจุนผู้ประกอบการ SMEs ให้มีโอกาสขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นและยาวนานภายใต้ Supply Chain ที่แข็งแรงดังกล่าวคาดว่าปัจจุบันมี SMEs ไทยจำนวนไม่น้อยเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ผู้ส่งออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากภาคส่งออกไทยพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) ถึงเกือบ 70% ของมูลค่าส่งออกรวม
ทั้งนี้ ธนาคารฯมีแผนจะสร้าง “นักรบเศรษฐกิจไทย” ในเวทีระดับโลก เป้าหมายคือเพิ่มจำนวนผู้ส่งออกจากปัจจุบันที่มีเพียง 3 หมื่นราย เพิ่มเป็น 1 แสนรายภายในปีนี้ เนื่องจากค่าเฉลี่ยของประเทศผู้ส่งออกทั่วโลก รวมถึงประเทศคู่แข่งของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรืออินโดนีเซีย ต่างมีสัดส่วนผู้ส่งออกต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระดับ 10%++
“เราจำเป็นต้องดูแล ผู้ประกอบการระดับเจ้าสัว (รายใหญ่) เพื่อให้เป็น Sponsor หรือ Big Brother คอยดูแลช่วยเหลือเครือข่ายซัพพลายเซนของตัวเอง เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่หนึ่งราย สามารถจะสร้างและนำพาซัพพลายเชนขนาดเล็ก ออกไปสู่ตลาดภายนอกประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 600-1,000 ราย ซึ่งเราเรียกว่าเป็น ระบบหรือโมเดลแห่งพึ่งพาและพึ่งพิง กล่าวคือ คนตัวใหญ่ดูแลและเป็นที่พึ่งพิง เพื่อให้คนตัวเล็กได้พึ่งพา แล้วออกไปสู้ในต่างประเทศด้วยกัน” ดร.รักษ์ ย้ำ
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ Global Supply Chain เปลี่ยนไปในหลายมิติและทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่งและกระจายสินค้า การขาย และตัวสินค้า รูปโฉมการค้าเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบจากแหล่งใกล้ๆ มากขึ้น มีการนำระบบAutomation มาใช้มากขึ้นเพื่อลดการสื่อสารระหว่างแรงงานในกระบวนการผลิต ต้องวางแผนขนส่งหลากหลายช่องทาง รวมทั้งทำประกันและปรับเทอมการค้าให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น การขายสินค้าใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น และสินค้าต้องสอดรับกับเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลก มีความโดดเด่นน่าจดจำ เพื่อสร้างการจดจำและความจงรักภักดีต่อแบรนด์
กก.ผจก. EXIM BANK กล่าวอีกว่า จาก นโยบาย Dual-track Policy ได้แก่ การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการให้บริการครบวงจรเพื่อพัฒนา SMEs ให้เป็นผู้ส่งออกมืออาชีพ ธนาคารฯจึงพร้อมสนับสนุน SMEs ไทยให้เข้าสู่หรือเชื่อมโยงกับ Supply Chain ในวงจรการค้าระหว่างประเทศ ด้วยบริการใหม่ “สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution)” เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่เป็น Suppliers ของผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsor)
โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม สามารถนำ Invoice มาใช้ยื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษผ่าน Digital Platform ได้ วงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด โดยอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของ Sponsor บริการดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกรรมทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ธนาคาร ขณะที่ Sponsor ซึ่งเป็นลูกค้า EXIM BANK จะได้รับเครดิตเทอมเพิ่มจากคู่ค้าที่เป็น SMEs และมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน เป็นประโยชน์ในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตข้างหน้า
ต้นแบบ Supply Chain ที่แข็งแกร่งภายใต้การสนับสนุนของธนาคารฯ ได้แก่ บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ ผู้ส่งออก-นำเข้าและศูนย์รวมวัสดุก่อสร้างและสินค้าไลฟ์สไตล์ครบวงจรของไทย และมี Suppliers ใน Supply Chain เป็นจำนวนมาก
“การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจไทยต้องเริ่มต้นที่ฐานราก กล่าวคือ การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเงินทุนและอำนาจต่อรอง โดยอาศัยพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสะพานเชื่อมไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย กระตุ้นให้เกิดการค้าและธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลเพื่อความสะดวกรวดเร็วแก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยตลอดทั้ง Supply Chain เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความแข็งแกร่งและพร้อมเริ่มต้นกับโอกาสครั้งใหม่หลังวิกฤตโควิด-19”ดร.รักษ์ ระบุและย้ำว่า…
ทุกธุรกิจจำเป็นจะต้องมีแพลน B หรือธุรกิจสำรอง/เสริม ทำควบคู่ไปกับธุรกิจหลัก เห็นได้ชัดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการ SMEs มีอาชีพ/ธุรกิจเสริม ยังพอช่วยผ่อนคลายในภาวะที่ธุรกิจหลักมีปัญหาได้
ส่วน นายวิทูรย์ สุริยวนากุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ เสริมว่า ผู้ประกอบการ ที่เป็น Supply Chain ต่างได้รับโอกาสเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเดียวกันรายใหญ่ ที่ต่ำกว่า 5% อีกทั้งยังมีสินเชื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในกระบวนการผลิตที่ EXIM BANK คิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเพียง 2% ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระด้านดอกเบี้ย ดังนั้น จึงต้องรักษาโอกาสนี้ไว้ และให้ความสำคัญกับมาตรการคุณภาพของสินค้า เพื่อที่เราจะได้โตไปด้วยกัน
ขณะที่ ตัวแทน Supply Chain ของ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ ต่างพูดในทำนองเดียวกันว่า พวกเขาต่างได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ต่ำ ลดต้นทุนการผลิตได้ รวมถึงได้รับความรู้จากการถ่ายทอดประสอบการด้านการจัดส่งและกระจายสินค้า เพื่อโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น.