ออมสินผุดมหกรรมผ่อนปรนหนี้ครู สกัดหนี้เน่า!
แบงก์ออมสิน สกัดหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา กลายสภาพเป็น “หนี้เสีย” ช่วงวิกฤตโควิดฯ คลอด “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” 1-30 มิ.ย.นี้
นายวิทัย รัตนากร ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในช่วงเวลากว่า 12 ปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน และกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยลดภาระในชีวิตประจำวันแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจส่งผลทางอ้อมต่อรายได้ครอบครัว
ดังนั้น ธนาคารฯจึงเร่งจัดทำมาตรการแก้ไขหนี้ ภายใต้แนวคิด มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อช่วยยับยั้งไม่ให้ต้องกลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) จนเป็นเหตุให้อาจถูกดำเนินคดี ส่งผลเสียทางเครดิตและกระทบต่อหน้าที่ราชการได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ข้าราชการครู ลูกจ้างและบุคลากรทางการศึกษาที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง สามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระเงินต้น และเลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยการเลือกแผนการชำระหนี้ตามความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง ผ่านแอป MyMo หรือที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ซึ่งเปิดให้แจ้งความประสงค์จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นี้เท่านั้น
สำหรับ ข้าราชการครูที่เกษียณอายุแล้ว และยังไม่เคยใช้สิทธิบำเหน็จตกทอดมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน สามารถขอกู้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการบำนาญฯ ที่ผ่อนปรนให้ใช้บำเหน็จตกทอดเป็นหลักประกันในการกู้ และนำเงินกู้ไม่ต่ำกว่า 50% ไปชำระหนี้เดิมกับธนาคารฯได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ คงที่ 2.00% ต่อปี นานถึง 10 ปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ย MRR-2.50% ต่อปี ให้วงเงินกู้ 100% ของเงินบำเหน็จตกทอด ผ่อนชำระนาน 30 ปี โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา หรือติดต่อสาขาที่ใช้บริการสินเชื่ออยู่
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา ธนาคารฯได้เน้นดำเนินการแก้ไขหนี้แก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการผ่อนชำระเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีผู้เข้ามาตรการแก้ไขหนี้กับธนาคารแล้วกว่า 6 แสนบัญชี วงเงินรวมกว่า 370,000 ล้านบาท โดยเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 1 แสนบัญชี วงเงินรวมกว่า 120,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร. 1115 และที่ facebook : GSB Society.