บสย.อนุมัติวันเดียว – ค้ำสินเชื่อฟื้นฟู 3.3 พันล.
คาด ส.ค.-ก.ย.นี้ กลุ่ม SMEs แห่ขอสินเชื่อฟื้นฟูฯ 2.5 แสนล้านบาท ทะลัก! หลังรัฐเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิดฯ เผย! ปมวงเงินไม่ขยับ เหตุจาก “การติดต่อช่วงโควิดฯ – SMEs ชั่งใจไม่เข้าโครงการฯ” ด้าน บิ๊ก’บสย. แนะ ติดต่อขอคำปรึกษาปูทางขอกู้ไว้ก่อน เหตุ เงื่อนไขดี ดบ.ต่ำ อนุมัติง่ายและเร็ว แค่วันเดียว ระบุ! อนุมัติแล้วกว่า 2.7 พันราย วงเงิน 3.3 พันล้านบาท คาดตัวเลขจะขยับเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ต่อไป
บ่นกันอุบ! สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจที่เล็กกว่านั้น เพราะต่างได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กับการระบาดมาแล้ว 3 ระลอกใหญ่…
บ่น! เพราะเม็ดเงินกู้ที่ภาครัฐ โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หวังนำมาปล่อยกู้เพื่อการเยียวยา ไม่ว่าจะใช้เป็น….การเสริมสภาพคล่อง หรือต่อยอดธุรกิจ…แต่กลับถูกเงื่อนปมที่แข็งขันบีบรัด! จนบรรดาแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐ…ไม่กล้าปล่อยกู้?
แม้จะได้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คอยค้ำประกันเงินกู้ให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แล้วก็ตาม
แต่การปล่อยกู้…ไม่คืบหน้าอย่างที่คาดหวัง!
เป็น ธปท.ที่ต้องปรับลดเงื่อนไขให้อ่อนลง เพื่อที่แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐ จะได้นำเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.Soft Loan วงเงิน 5 แสนล้านบาท มาใช้เพื่อการนี้…
กระทั่ง ต้องออก กฎหมายฉุกเฉินตัวใหม่ ที่ชื่อ…พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์-พักหนี้ วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564
กฎหมายตัวนี้ มี 2 มาตรา คือ 1. มาตรการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และ 2.มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท
ว่ากันเฉพาะ…มาตรการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท
เฟสแรก ธปท.ให้แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก้อนแรก 1 แสนล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาต้องไม่เกิน 5% ต่อปี โดย 2 ปีแรก ให้คิดฯไม่เกิน 2% ต่อปี และไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ประกอบธุรกิจในระหว่าง 6 เดือนแรก นับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับสินเชื่อ
โดยให้ บสย.ค้ำประกันเต็มจำนวน และค้ำทุกเคส
ที่สุด! ก็ยังคงล่าช้า…อะไรคือสาเหตุทำให้ล้าช้า?
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการ ผจก.ทั่วไป บสย. ยืนยันว่า…ทุกเคสที่ส่งมาถึง บสย. จะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติเพียง 1 วัน จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 วัน เพื่อพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู (LG) และเพราะการค้ำประกันทุกเคส นั่นจึงทำให้ ณ วันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา บสย.ค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้วกว่า 2,700 ราย คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 3,400 ล้านบาท
แม้จะดูน้อยมาก…เมื่อเทียบกับเม็ดเงินในเฟสแรก 1 แสนล้านบาท นั่นเพราะมี 2 ปัจจัยสำคัญทำให้เป็นเช่นนี้…
หนึ่ง…ท่ามกลางภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ ทำให้การติดต่อเพื่อขอรับส่งเอกสารสำคัญ ระหว่างแบงก์ต้นทางกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นไปด้วยความยากลำบาก ความล่าช้าของการติดต่อสื่อสาร จึงเป็นปัญหาสำคัญของเรื่องนี้
อีกหนึ่ง…ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อยู่ระหว่าง “ชั่งใจ” หากได้เงินกู้ที่มีภาระต้นทุนทางการเงินมาแล้ว โดยที่ยังไม่สามารถดำเนินงานหรือขยายกิจการใดๆ ได้ จะเป็นภาวะความเสี่ยงของพวกเขาหรือไม่? จึงทำให้เกิดภาวะการชะลอตัวในการเข้าโครงการฯ
กระนั้น แบงก์ต้นทางก็พยายามสื่อสารกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง หวังให้รับรู้ข่าวสารนี้ เพื่อที่จะได้เข้ามาตรการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูฯ
ขณะที่ ธปท.เอง ได้อนุมัติให้แบงก์ฯปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ที่มาถึง บสย.เพียงกว่า 3,400 ล้านบาท นั่นเพราะอีกราว 2,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเรียกรับและขอเอกสารจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
แน่นอนว่า…เมื่อเรื่องส่งมาถึง บสย. การพิจารณาอนุมัติค้ำประกันฟื้นฟูจะแล้วเสร็จภายใน 1 วันเช่นเดิม
“ช่วงนี้…ปริมาณสินเชื่อที่จะให้ บสย.ค้ำประกันฯยังไม่มีมาก เราจึงใช้เวลาเพียงแค่วันเดียว แต่เชื่อว่าหลังจากที่รัฐบาลเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิดฯแล้ว ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน น่าจะมีปริมาณสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงกว่านี้หลายเท่าตัว นั่นเพราะทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ และมั่นใจที่จะกลับมาดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจต่อไป” รักษาการ ผจก.ทั่วไป บสย. กล่าว
สำหรับการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ บสย. ตามมาตรการนี้ ดำเนินการร่วมกับแบงก์หลัก ประกอบด้วย…ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก (EXIM BANK) วงเงินประกันต่อราย 1.25 ล้านบาท
โดยมีประเภทธุรกิจที่ค้ำประกันมากสุด เรียงตามลำดับ คือ 1.ธุรกิจการบริการ, 2.การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ และ 3.การเกษตรกรรม
“นับเป็นสัญญาณดีของโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ โดย บสย.ทำหน้าที่เป็นหลักประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี กลุ่มคอปอเรท และบุคคลธรรมดา พร้อมเงินเงื่อนไขที่ดีที่สุด คือ ดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าแนวโน้มจากนี้จะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางวสุกานต์ ระบุและว่า
แบงก์ต่างๆ อาจขยายหรือไม่ขยายเวลาในโครงการฯ ที่ ธปท.กำหนดไว้ 5 ปี แต่สำหรับ บสย.แล้ว พร้อมค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูฯ ต่อไปสูงสุดจนครบ 10 ปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เดินหน้าธุรกิจด้วยความมั่นใจ
ทั้งนี้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูฯ เริ่มคิกออฟฯตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา
หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจจะเข้าโครงการฯ สามารถติดต่อ Call Center ของ บสย. 02-890-9999 รวมถึงศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) โทร.065-507-8999, Line@doctor.tcg, เว็บไซต์ www.tcg.or.th และสำนักงานเขต สบย.ทั้ง 11 แห่ง เพื่อขอรับคำแนะนำเข้าถึงแหล่งทุนและโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูได้ทุกวันในเวลาทำการ.