บสย.ดันยอดค้ำฯพุ่ง ช่วย SMEs ไทยฝ่าวิกฤต
บสย. โชว์ผลงานค้ำประกันสินเชื่อ Q1/64 เผย! ยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อพุ่ง 4 หมื่นล้านบาท โตถึง 16.6% ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤตโควิดฯ ยอมรับการอนุมัติ LG ยอดตก เหตุต้นทุนสูงขึ้น อีก 1 แสนบาท
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวถึงผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ไตรมาสที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2564 ว่า มียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 40,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนการอนุมัติหนังสือค้ำประกัน (LG) มียอดอนุมัติ 60,172 ฉบับ ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดอนุมัติ 61,471 ฉบับ เนื่องจากวงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อ LG หรือ Ticket Size สูงขึ้น ในอัตราเฉลี่ย 0.67 ล้านบาท เทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อนที่ 0.57 ล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ 59,595 ราย โดยสัดส่วนการค้ำประกันของ บสย. ต่อจำนวน SMEs ทั้งระบบ หรือ SME Penetration Rate ไตรมาส 1/2564 ที่ 18.7% เพิ่มขึ้นจาก 17.5% ณ สิ้นปี 2563
สำหรับ ผลดำเนินงานไตรมาส 1/2564 ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ด้วยความร่วมมือของทีมงาน บสย. ทุกฝ่าย ที่ได้ยกระดับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรในช่วงที่ผ่านมา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานให้รวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและต้องการเงินทุน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และได้รับสินเชื่ออย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤต Covid-19 ตามที่ บสย. ได้ประกาศแผนการทำงานเชิงรุก ทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐ ในบทบาทนายธนาคารข้างถนน “ค้ำประกันสินเชื่อ ช่วย SMEs” ซึ่งผลการทำงานร่วมกันระหว่าง บสย. และสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อต่อ LG เพิ่มขึ้น และยังมีสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อต่อจำนวน SMEs เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนการดำเนินงานไตรมาส 2 บสย.ให้ความสำคัญกับมาตรการรัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อต่อเนื่อง จับมือกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 เฟสแรกวงเงิน 100,000ล้านบาท ที่เปิดกว้างและเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการธุรกิจทุกประเภท อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้ง่ายขึ้น โดยใช้กลไก บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจทุกรายที่ผ่านการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ บสย. ยังมี โครงการค้ำประกันสินเชื่ออื่นๆ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 จำนวน 82,000 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 จำนวน 13,500 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2565
รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวอีกว่า ทิศทางการดำเนินงาน บสย. ยังเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ คือการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจสร้างรายได้จาก Core Business อาทิ ธุรกรรมการค้ำประกัน การเพิ่มรายได้จากการเก็บหนี้ บริหารเงินลงทุน และ Service Fee รวมถึงการปรับสาขาให้เป็น Profit Center เพื่อสร้างรายได้จากธุรกรรมค้ำประกัน
อีกทั้ง ยังเดินหน้า โครงการพัฒนาระบบ Core Guarantee System หรือ CGS ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและกระบวนการทำงานด้านการค้ำประกันคาดว่าจะเริ่มเปิดระบบทดสอบการใช้งานได้ในปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป.