CIMBTชี้โควิคระบาดรอบสาม เศรษฐกิจแค่แผ่วชั่วคราว
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยระบุผลกระทบโควิคระลอก 3 ส่งผลการบริโภคเดือนเมษายนที่อาจชะลอลงแต่หมวดอาหาร เครื่องดื่ม อาจไม่ลดลงแรงเท่ากลุ่มอื่น ยอมรับห่วงการใช้จ่ายในประเทศที่ยังเติบโตช้าฉุดจีดีพีไทยปีนี้ขยายตัวต่ำ
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินสถาการณ์ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ว่า เราพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาอีกระลอกในหลากหลายคลัสเตอร์ ซึ่งกำลังมีความเป็นไปได้สูงที่ทางภาครัฐจะประกาศการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอีกครั้ง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเราจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นรอบที่ 3
และหากควบคุมได้ดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะกลับมาเปิดมากขึ้น การใช้จ่ายก็จะดีขึ้นในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แต่แม้จะสิ้นสุดการระบาดในรอบ 3 นี้ การบริโภคก็ยังเสี่ยงโตช้าด้วยปัจจัยอื่น และอาจต้องระวังความเสี่ยงที่การบริโภคจะโตช้ากว่าที่เคยเห็นในช่วงก่อนโควิด หรือ เรียกง่ายๆ ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตจากภายนอกมากกว่าภายใน ปีนี้ก็เช่นกัน หากดูการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในแต่ละสำนัก ก็จะเห็นภาพคล้ายคลึงกัน นั่นคือการบริโภคเอกชนโตต่ำกว่า 3%
ขณะที่เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนผ่านการส่งออกสินค้าที่มองว่าอาจโตได้มากกว่า 10% และยังไม่นับการกระจายตัวของเศรษฐกิจอีกที่ดีเพียงด้านกลาง-บน ซึ่งต่อให้ไม่มีรอบ 3 นี้ การบริโภคก็เสี่ยงโตช้าด้วย 4 ปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
2. ขาดการลงทุน นั่นเพราะโรงงานต่างๆ อาจเลือกที่จะระบายสต๊อกสินค้าก่อนเร่งผลิตของ หรือแม้กำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ทำให้การลงทุนใหม่ๆ ยังเลื่อนออกไปได้ ซึ่งเราน่าจะเห็นในช่วงไตรมาสสามมากขึ้น
3. ขาดความเชื่อมั่น โดยปกติคนจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเมื่อมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ กล้านำเงินออมออกมาใช้ แต่รอบนี้เรายังเห็นคนออมเงินกันค่อนข้างมาก ซึ่งความเชื่อมั่นจะมีผลต่อสินค้าคงทน มากกว่ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอ่อนแอ มีผลต่อการใช้จ่ายในสินค้าเกี่ยวเนื่อง
4. ขาดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการรัฐในการลดค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภคผ่านเงินโอนจากรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 31 พฤษภาคม และหากไม่มีการต่ออายุมาตรการเหล่านี้และให้เงินเพิ่มเติม ผมเกรงว่าคนจะไม่ใช้จ่ายมากเท่าที่เป็นอยู่
“การระบาดรอบนี้มีผลต่อการบริโภคที่อาจชะลอในเดือนเมษายนในแทบทุกหมวด แต่หมวดอาหาร เครื่องดื่มอาจไม่ลดลงแรงเท่ากลุ่มอื่น เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากรัฐบาล และเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่ที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การใช้จ่ายของคนไทยยังเติบโตช้าด้วยปัจจัยอื่นนอกจากโควิด ซึ่งน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำอยู่ในปีนี้” ดร.อมรเทพ จาวะลา กล่าวสรุป