SCBT คงเป้าจีดีพีไทยปีนี้ที่ 2.4% แม้มีโควิคระลอก3
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) คงเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.4% แม้จะมีการระบาดของโควิคระลอก3 ผลจากการบริโภคของประชาชนและธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว มองดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่0.5% ยาวนาน3ปี
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ให้มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยว่าธนาคารยังคงประมาณการ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ระดับ 2.4% แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่วนจีดีพีในไตรมาสแรกคาดว่าการขยายตัวยังคงติดลบเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาส2 การเติบโตจะดีขึ้น เนื่องจากฐานปีที่แล้วที่อยู่ในระดับต่ำ
สาเหตุที่ธนาคารยังคงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 2.4% เนื่องจากความไม่แน่นอนและความมั่นใจในการบริโภคของประชาชนและภาคธุรกิจยังคงเปราะบางต่อปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบ และการบริโภคมีสัดส่วนถึง 50% ของจีดีพีรวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของจีดีพี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 20% ของจีดีพี แม้จะมีทิศทางที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายจากการระบาดของโควิค-19 ที่ยังมีต่อเนื่อง และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิคที่ต้องติดตามว่าจะทำได้เร็วมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการป้องกันการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ ธนาคารจึงเชื่อว่าการเดินทางท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นในการเดินทางน่าจะเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง หรือไตรมาส4เป็นต้นไป
ดร.ทิม ยังย้ำกว่าการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยควรจะมาจากการดำเนินนโยบายการคลังเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันนโยบายการเงินมีช่องทางให้ดำเนินการได้อีกไม่มาก โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย ที่ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 0.5% ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ และธนาคารคาดว่าจะคงที่ในระดับ 0.5% นานต่อเนื่องไปอีก 3ปี หรือจนถึงปี 2566
ส่วนนโยบายการคลังต้องยอมรับว่าปัจจุบันเริ่มเห็นความกังวลในเรื่องของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนการระบาดของโควิคอยู่ที่ 40% ของจีดีพี และปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50% และคาดว่าปลายปีจะอยู่ที่ระดับ 60%ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่รัฐบาลจะก่อหนี้ได้
“การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพระทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ก็เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ดังนั้นมาตรการที่จะออกมาเพื่อกระตุ้นในระยะต่อไป จำเป็นต้องให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจริง เช่น เกิดการจ้างงาน หรือ ช่วยผู้ประกอบการSMEsให้อยู่รอดได้ “
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า เงินจะทยอยแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่อ่อนค่าลงมาแตะที่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เริ่มมีสัญญาณการขาดดุลเล็กน้อย เมื่อเทียบกับในอดีตที่ไทยมีแต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันยังไม่เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจน