โควิด-19 หนุนไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเร็วขี้น 4-5 ปี
วีซ่า ประเทศไทย ระบุผลสำรวจคนไทยพบโควิด-19 สนับสนุนให้คนไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเร็วขึ้น 4-5 ปี หรือ ภายในปี 2569 จากเดิมต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนใช้คอนแทคเลสในไทยเป็น 20% ภายในสิ้นปีนี้
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทยเปิดเผยถึงผลการสำรวจฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามากกว่าสี่ในห้าของคนไทย (82 เปอร์เซ็นต์) ได้ลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสด โดยเฉลี่ยคนไทยสามารถใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งเงินสดได้มากกว่าหนึ่งสัปดาห์ (แปดวัน)
ซึ่งสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคที่ไม่เคยใช้วิธีการชำระเงินแบบคอนแทคเลสหันมาทดลองแตะเพื่อจ่ายแทนเงินสดมากขึ้น โดยผู้บริโภคเลือกทดลองแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุดเป็นอันดับแรก (26 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วยแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลส (23 เปอร์เซ็นต์) และสแกนจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด (21 เปอร์เซ็นต์)
ทั้งนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนตัวเร่งให้ประเทศก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเร็วขึ้นเพราะนวัตกรรมด้านการชำระเงินเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ในสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเขาเชื่อว่าสังคมไร้เงินสดสามารถเกิดขึ้นได้จริงในปี 2026 หรือ 2569 ในขณะที่ก่อนการแพร่ระบาดคนไทยเคยคิดว่าสังคมไร้เงินสดจะไม่มีทางเกิดขึ้นก่อนปี 2030หรือ 2573 อย่างแน่นอน
ซึ่งภายในสิ้นปี 2564 บริษัทจะพยายามเพิ่มสัดส่วนธุรกรรมการจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลสเป็น 20% ของธุรกรรมทั้งหมด จากเดิมที่อยู่ราว 15% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาจากอดีตอยู่ที่สัดส่วน 0.1% ของธุรกรรมทั้งหมด
“ปีนี้จะเป็นปีแห่งการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายใต้กระแสของความไม่แน่นอน ในขณะที่ผู้บริโภคต่างปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีการชำระเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ เหล่าร้านค้าและภาคธุรกิจต่างต้องก้าวให้ทันตามความต้องการของและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สำหรับวีซ่า เราจะยังมุ่งมั่นพัฒนาและร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระบบนิเวศการชำระเงินเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าตามแผนการฟื้นฟู และเติบโตต่อไปในอนาคต” สุริพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้จากการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า สามข้อดีของการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด คือ เป็นการช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค (61 เปอร์เซ็นต์) ไม่ต้องต่อคิวในธนาคาร (60 เปอร์เซ็นต์) และช่วยให้สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีได้ง่ายขึ้น (59 เปอร์เซ็นต์)
โดยผู้บริโภคชาวไทยรับรู้และคุ้นเคยกับการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมากที่สุด (94 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วยวิธีการชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟน (92 เปอร์เซ็นต์) และการแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลส (89 เปอร์เซ็นต์)
ส่วนในด้านของการใช้งานจริงนั้น 45 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ทำแบบสอบถามเลือกชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุด ตามมาด้วยการสแกนชำระผ่านคิวอาร์โค้ด (42 เปอร์เซ็นต์) และแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลส (41 เปอร์เซ็นต์)