ดัน BAM ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย! ตั้งผลเรียกเก็บปีนี้ 1.7 หมื่นล.
“บัณฑิต อนันตมงคล” ประกาศนำทัพ BAM ในฐานะ “AMC เบอร์ 1” ของไทย หวังพลิกฟื้นทรัพย์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตั้งเป้าปี’64 ทุ่มซื้อ NPL/NPA เข้าพอร์ตไม่ต่ำกว่า “9 พันล้าน” หวังดันผลเรียกเก็บ “1.7 หมื่นล้าน” พร้อมเร่งอัพเกดระบบ IT สู่ความเป็น BAM Digitai Enterprise วางงานยาวรับแผน 5 ปีแบบโตต่อเนื่อง เผย! ปี’63 รับพิษโควิดฯ แต่ยังกวาดกำไรพุ่ง “1.84 พันล้าน”
บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดตัว ปธ.จนท.บริหารคนใหม่ อย่าง….นายบัณฑิต อนันตมงคล ได้อย่างน่าสนใจ กับ วิสัยทัศน์และมุมมอง ทั้งในเชิงการบริหารและการจัดการองค์กรและธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทั่ง ส่งผลกระทบโดยอ้อมต่อปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ทั้งระบบ
นั่นเพราะ…นโยบายการแช่แข็ง “หนี้ใกล้เสีย” ผ่านการยืดอายุการชำระหนี้ออกไปเรื่อยๆ ของภาครัฐ อย่าง…ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
แน่นอนสิ่งนี้…กระทบชิ่งไปยังแผนการดำเนินงานของ BAM ที่มุ่งเน้นเปลี่ยน NPL เป็น NPA (สินทรัพย์รอการขาย) เพื่อการขายต่อไปยังเจ้าของเดิม และ/หรือ ผู้ซื้อขายรายใหม่ อย่างช่วยไม่ได้
กระนั้น วิสัยทัศน์และมุมมองของ นายบัณฑิต อาจลดทอนผลกระทบจากปัญหาข้างต้นได้บ้าง…
เขากล่าวระหว่างแนะนำตัวว่า…การเข้ารับตำแหน่งครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายในการบริหารงาน ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากสถานการณ์ไวรัสโควิด–19 โดยมีเป้าหมายให้ BAM คงความเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพลิกฟื้นสินทรัพย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยการบริหารจัดการ NPL ในระบบสถาบันการเงินของประเทศ เพื่อให้ลูกหนี้ได้ทรัพย์หลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย หรือที่ทำกินกลับคืนไป หรือสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับเป็นหนี้ที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติ รวมทั้งบริหารจัดการ NPA ให้มีสภาพดี พร้อมขายในราคาที่เป็นธรรม และยังเป็นการกระตุ้นให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสองเติบโตต่อไปอีกด้วย
ทั้งนี้ BAM ตั้งเป้าผลเรียกเก็บในปี 2564 จำนวน 17,452 ล้านบาท ขณะที่ตั้งงบลงทุนซื้อสินทรัพย์ NPL/NPA เข้ามาบริหารจัดการไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท โดยการประมูลซื้อจากสถาบันการเงินต่างๆ และการขายทอดตลาดที่กรมบังคับคดี ปัจจุบัน BAM มี NPL อยู่ในความดูแล จำนวน 85,102 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 484,881 ล้านบาท และ NPA จำนวน 21,574 รายการ คิดเป็นราคาประเมินมูลค่า 62,571 ล้านบาท
สำหรับ การบริหาร NPL ใช้กลยุทธ์ลดระยะเวลาในการบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นการสร้างผลเรียกเก็บระยะสั้น โดยเร่งติดตามเงินรอรับจากกรมบังคับคดี พร้อมคัด Port ลูกหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันออกประมูลขาย นอกจากนี้ยังเร่งพัฒนาระบบ E-TDR โดยเบื้องต้นลูกหนี้สามารถชำระผ่าน Application ได้ รวมทั้งเพิ่มฐานลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ผ่อนชำระไม่น้อยกว่า 3,500 ราย โดยสร้างโอกาสในการประนอมหนี้ผ่านโครงการสุขใจได้บ้านคืน โครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้ และโครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ
ด้าน การบริหารจัดการ NPA นั้น ปธ.จนท.บห. BAM ย้ำว่า BAM ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการจำหน่ายทรัพย์ให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดระยะเวลาการถือครอง รวมทั้งคัดทรัพย์มาทำรายการพิเศษกว่า 3,000 รายการ พร้อมคัดทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีมูลค่าสูง และทรัพย์เพื่อนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อซ้ำ รวมทั้งทรัพย์สำหรับ กลุ่ม SME และ Start Up นำเสนอขายพร้อม Solution พร้อมเพิ่มฐานลูกค้าที่ซื้อแบบผ่อนชำระกับ BAM ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ภายในปี 2564
ในส่วนของ แผนการตลาดในปีนี้ เขาระบุว่า จะเน้นไปที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตาม Target Segment และจัดโปรโมชั่น แคมเปญอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เช่น โปรโมชั่นโอนเร็ว รับเลย ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และบัตรกำนัล หากลูกค้าโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 30 วัน รวมทั้งเตรียมจัดประมูลทรัพย์แบบออนไลน์ และในช่วงที่ประชาชนใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) สื่อต่างๆ ในรูปแบบ Digital Platformได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก เนื่องจาก การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น การออกบูธ หรือการจัดงานต่างๆ มีข้อจำกัด BAM จึงเร่งพัฒนาปรับปรุง Website และสื่อ Social Media ต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการติดต่อสื่อสารและใช้บริการ
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า บริษัทมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT สู่การเป็น BAM Digital Enterprise เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงานให้เร็วขึ้น (Re-Process) นอกจากนี้ ยังมีนโนโยบายในการพัฒนาบุคลากรด้วยการ Reskill หรือ Upskill เพื่อเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค Digital
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2563 นั้น เขากล่าวว่า แม้จะเป็นปีที่มีความยากลำบากจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ BAM ยังมีผลการดำเนินงานโดยรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีผลเรียกเก็บเงินสด 13,134 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จาก NPL 8,396 ล้านบาท และรายได้จาก NPA 4,738 โดยมีกำไรสุทธิ 1,840 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน BAM ได้วางเป้าหมายผลเรียกเก็บในระยะ 5 ปีข้างหน้า ให้มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ตั้งเป้าผลเรียกเก็บ 17,453 ล้านบาท ปี 2565 ตั้งเป้า 18,953 ล้านบาท ปี 2566 ตั้งเป้า 20,510 ล้านบาท ปี 2567 ตั้งเป้า 22,199 ล้านบาท และปี 2568 ตั้งเป้า 24,036 ล้านบาท
โดยตลอดระยะเวลา กว่า 20 ปีที่ผ่านมา BAM ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) โดยให้ความช่วยเหลือผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ภายใต้แนวคิด 5 ดี ของ BAM ประกอบด้วย ดีต่อประเทศ ดีต่อสังคม ดีต่อลูกค้าหรือลูกหนี้ ดีต่อผู้ถือหุ้น และดีต่อพนักงาน เพื่อสร้างการเติบโตในทุกมิติที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน.