กรุงไทยชี้! ไทยใช้เงิน 8.2 แสนล. รับมือกระแสโลก “ธุรกิจสีเขียว”
ศูนย์วิจัยแบงก์กรุงไทย ชี้! ภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัวรับกระแสโลกใหม่ “อิงสิ่งแวดล้อม” ที่มาพร้อมกับ 3 กระแสเปลี่ยนโลก คาดไทยต้องใช้เงิน 8.2 แสนล้านบาท ตลอด 5 ปีจากนี้ เพื่อยกระดับการแข่งขันและไม่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกไปยังชาติคู่ค้าสำคัญ ย้ำ! เทคโนฯ “ชีวภาพ-ดิจิทัล” ช่วยได้
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผช.กก.ผจก.ใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวระหว่าง การแถลงข่าวรูปแบบ Virtural Press Briefing หัวข้อ “จับตากระแสโลก หนุนธุรกิจสายกรันและนวัตกรรมยั่งยืน” ว่า มีแนวโน้มที่หลายประเทศชั้นนำ เช่น สหรัฐอเมริกา อียู และประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย จะนำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมากำหนดเป็นนโยบายด้านการค้า โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการภาษีเพื่อจัดเก็บกับสินค้านำเข้าในอนาคตอันใกล้ ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของประเทศ จำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสดังกล่าวของโลก
แนวโน้มที่เด่นชัดคือ การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาพร้อมกับ 3 กระแสเปลี่ยนโลก ได้แก่ 1) การมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน 2) การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และ 3) การประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจ
ทั้งนี้ การลงทุนและปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) คาดว่าจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มอย่างน้อย 8.2 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี (ปัจจุบันมีเพียง 3%) ซึ่งจะทำให้สัดส่วนเงินลงทุนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 4% จากระดับปัจจุบันที่มีราว 24% ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการลงทุนของไทยเพิ่มเป็น 28% ในอนาคตอันใกล้
“หากธุรกิจไทยใช้ประโยชน์จากฐานเกษตรกรรมและทรัพยากรชีวภาพไทยที่มีความหลากหลาย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพและดิจิทัลอย่างเหมาะสม ในการพัฒนาและต่อยอดในหลายอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมและความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน”นายพชรพจน์ ระบุ
ด้าน นายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโส กล่าวเสริมว่า มี 2 แนวทางที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวก่อนจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ด้วยการนำเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการผลิต และ 2.การต่อยอดโดยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่ยึดโยงกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ที่ผ่านมาประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ได้ดำเนินมาตรการภาคบังคับด้านสิ่งแวดล้อม มีการนำมาตรการฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ มาใช้เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่”นายชัยสิทธิ์ กล่าว
ล่าสุด สหภาพยุโรปได้ร่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เพื่อปรับราคาของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าที่สูงกว่าการผลิตในสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยหากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญในหลายประเภทอุตสาหกรรม เช่น เกษตรกรรมและอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก พลังงาน
“หากผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจให้ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและดิจิทัล ก็จะสร้างประโยชน์แบบ win-win โดยจะช่วยให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของตน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของภาคธุรกิจในระยะยาว”นายชัยสิทธิ์ ระบุและว่า
ในส่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะกรมภาษี (สรรพากร) ได้มีการสร้างแรงจูงใจด้านการเสียภาษีกับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจก จะได้ประโยชน์จากมาตรการภาษีนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการอื่นๆ จำเป็นจะต้องปรับในเรื่องนี้ด้วย
อนึ่ง ขณะนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ทั้งระบบ โดยพุ่งเป้าไปยังภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไม่เกินไตรมาส 3 ของงบประมาณ 2564.