กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขาย 29.80-30.10บาท/ดอลล์
กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 29.80-30.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ธนาคารมีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ โดยมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 29.80-30.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดทรงตัวที่ 29.97 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายแคบๆ ในช่วง 29.95-30.06 บาท/ดอลลาร์ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 1.33 หมื่นล้านบาท และ 800 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. เงินบาทแข็งค่าราว 0.1%
โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงปรับฐานลงจากแรงขายทำกำไรและความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นด้านการคลังของประธานาธิบดีไบเดนที่มีแนวโน้มล่าช้าและต้องลดขนาดลง ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)มีมติคงกรอบเป้าหมายดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% และคงมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรอย่างน้อย 8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนตามความคาดหมายของตลาด
โดยเฟดให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)กล่าวว่าอาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกหากจำเป็น โดยนักลงทุนเห็นว่าท่าทีดังกล่าวสะท้อนความพยายามที่จะชะลอการแข็งค่าของเงินยูโรเสมือนเป็นการแทรกแซงด้วยวาจา
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯหลายรายการ อาทิ ดัชนีภาคบริการ และการจ้างงาน รวมถึงการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) นอกจากนี้ ประเด็นการกระจายวัคซีนทั่วโลกยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเช่นกัน ขณะที่แถลงการณ์ล่าสุดของเฟดระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นแผ่วลง หลายอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวกับสถานการณ์โรคระบาดแต่ตลาดแรงงานโดยเฉพาะธุรกิจบริการยังเปราะบาง โดยมีความเสี่ยงในระยะใกล้ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อนึ่ง เราตั้งข้อสังเกตว่าในรอบนี้เงินเยนไม่ได้แรงหนุนจากการปิดรับความเสี่ยงและตลาดที่ผันผวนอย่างที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ดี ภาวะดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกยังคงสนับสนุนมุมมองของเราว่าเงินเยนจะแข็งค่าในระยะยาว
สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 3 ก.พ. ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 2.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% โดยธปท.รายงานว่าเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวแต่ยังไม่ทั่วถึงและเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนธ.ค. ส่วนดัชนีเงินบาทอ่อนค่าลง กรุงศรีมองว่าทางการจะยังคงให้ความสำคัญกับการกระจายสภาพคล่องอย่างตรงจุดเพื่อมุ่งเน้นประสิทธิผลมากกว่าการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบในลักษณะเหวี่ยงแห