บลูมเบิร์กชูกสิกรไทย องค์กรที่มีความเสมอภาคทางเพศระดับโลก
บลูมเบิร์กชูกสิกรไทย องค์กรที่มีความเสมอภาคทางเพศระดับโลก 3 ปีซ้อน
กสิกรไทยได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก (GEI) ปี 2564 สถาบันการเงินแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่ได้รับการคัดเลือกติดต่อกัน 3 ปีซ้อน สะท้อนความโดดเด่นของบริษัทที่เห็นคุณค่าในความแตกต่างหลากหลาย และให้โอกาสแก่ทุกคนด้วยความเท่าเทียม เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าธนาคารกสิกรไทยมุ่งดำเนินธุรกิจตามหลักการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) เพื่อสร้างความสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการบริหารความแตกต่างหลากหลาย เช่น เพศ อายุ การศึกษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งในกลุ่มพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals –SDGs) ข้อ 5 Gender Equality หรือ ความเท่าเทียมทางเพศ ส่งผลให้ธนาคารได้รับคัดเลือกจาก Bloomberg Gender–Equality Index หรือ GEI ให้เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีความเสมอภาคทางเพศในระดับมาตรฐานสากลเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ธนาคารส่งเสริมความเสมอภาคของผู้หญิงในที่ทำงานให้ได้รับโอกาสและความเท่าเทียมในการแสดงศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ ปัจจุบันธนาคารมีคณะกรรมการธนาคารที่เป็นผู้หญิง 7 คน คิดเป็น 39% ของจำนวนกรรมการทั้งหมด 18 คน โดยมีประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้หญิง อีกทั้ง มีอัตราส่วนผู้บริหารที่เป็นผู้หญิง 47% และมีพนักงานผู้หญิงประมาณ 70% ของพนักงานทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงการเห็นคุณค่าในความแตกต่างหลากหลาย รวมทั้งเปิดโอกาสในด้านความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดสร้างสรรค์โดยไม่ถูกปิดกั้นเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
ปีนี้ มีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศจำนวน 380 บริษัท ครอบคลุมกว่า 50 อุตสาหกรรม ใน 44 ประเทศทั่วโลก โดย Bloomberg GEI จะพิจารณาจากบริษัทมหาชนที่เปิดเผยข้อมูลด้านการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศที่ครอบคลุมข้อมูลทางสถิติของบริษัท นโยบาย การมีส่วนร่วมของชุมชน ผลิตภัณฑ์และบริการ
โดยบริษัทที่เข้ารับการประเมินที่มีคะแนนสูงกว่าเกณฑ์ประเมินระดับโลกในด้านการเปิดเผยข้อมูลและผลงานโดยรวมจากตัวชี้วัด 5 ด้าน คือ ความเป็นผู้นำของผู้หญิงและการสร้างพนักงานที่มีความสามารถโดดเด่น ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเท่าเทียม วัฒนธรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วม นโยบายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ และการเป็นแบรนด์ที่ส่งเสริมสิทธิสตรี