ปี64กลุ่มทิสโก้ชูกลยุทธ์ “การเติบโตอย่างยั่งยืน”
กลุ่มทิสโก้แถลงแผนการดำเนินงานปี 2564 เน้นการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน ภายใต้แรงกดดันของสถานการณ์โควิด-19 ที่ฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ และไม่แน่นอนสูง พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าก้าวข้ามวิกฤตต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ 2.0% ถือเป็นอัตราการฟื้นตัวในระดับต่ำมากจากปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมามีความไม่แน่นอนได้อีกครั้ง
กลยุทธ์ของกลุ่มทิสโก้ในปี 2564 จึงให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืนในธุรกิจที่หลากหลายของกลุ่มทิสโก้ โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ พิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ควบคู่กับการบริหารจัดการทั้งด้านต้นทุนและการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ รวมถึงการดูแลติดตามและช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงกลางปีนี้ นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสของการเติบโตจากความต้องการสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายใหญ่ เพื่อใช้ดูแลสภาพคล่องของภาคธุรกิจให้มีความต่อเนื่อง
ซึ่งปีนี้คาดว่าผลการดำเนินงานจะดีกว่าปีก่อน จากการตั้งสำรองลดลง เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio)ในปี 2563 ที่อยู่สูงถึง 210.5% และมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.8% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำของธปท.ที่ 11.0% และ มีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 18.1% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้คาดว่ามีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นไปแตะที่ 3-3.5% จากสิ้นปีก่อนที่ 2.5%
“ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เข้ามาซ้ำเติมปัญหาความเปราะบางทางการเงิน สภาพคล่อง และกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า สิ่งที่เราทำได้ก็คือการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่อีกด้านยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตธุรกิจอย่างเหมาะสมกับความเสี่ยง ในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเข้ามาช่วยในการทำงานให้ง่ายขึ้น และยังสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งคู่ค้าและลูกค้า ตลอดจนการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ของผู้ใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อบ้าน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจของธนาคารได้ดีขึ้น ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจจะยังคงใช้จุดแข็งของการให้บริการลักษณะ Total Solution ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการวาณิชธนกิจ ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง”
นายสุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของธุรกิจธนบดีธนกิจและการลงทุนซึ่งเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง กลยุทธ์ในปีนี้จะยังคงเน้นการให้บริการอย่างผู้เชี่ยวชาญ แข่งขันอย่างมืออาชีพ และต่อยอดบริการที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี (Top Advisory) ด้วยการให้คำแนะนำที่ตอบโจทย์ลูกค้าในเชิงลึก (In-depth Advisory) และนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่เพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าอย่างครบวงจร ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจประกันชีวิตและสุขภาพ ธุรกิจกองทุนรวม และธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะความท้าทายวันนี้คือลูกค้าใช้บริการและผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุน ได้อย่างสะดวกขึ้นจากหลากหลายสถาบันการเงิน
สำหรับการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะที่ 1 มีลูกค้าเข้ามาขอรับความช่วยเหลือ 5-6 หมื่นราย คิดเป็น 20% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ซึ่งกลุ่มดังกล่าวตอนนี้กลับมาชำระได้มากมากกว่า 90% โดยระยะที่ 2 มีลูกค้าเข้ามาขอรับความช่วยเหลือ 6-7 พันราย คิดเป็น 2% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด