PwCคาดบริษัทไทยลงทุนระบบคลาวด์เพิ่มขึ้นหลังโควิด
PwC ประเทศไทย คาดปี 64 ธุรกิจไทยหันมาลงทุนระบบคลาวด์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงิน-ค้าปลีก เหตุโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่หนุนการทำงานแบบทางไกล ช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้าสายงานกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้องค์กรไทยมากกว่า 50% ในปัจจุบันหันมาใช้ระบบคลาวด์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฮบริดคลาวด์ เพราะช่วยสนับสนุนและเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานระยะไกล (Remote work) และคาดการณ์ว่า ในปีนี้องค์กรไทยจะยิ่งหันมาลงทุนระบบคลาวด์เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและเสริมความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ
“การแพร่ระบาดครั้งนี้ ทำให้บริษัทไทยให้ความสนใจในการใช้ไอทีในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น โดยโควิด-19 ทำให้ยิ่งมีการใช้งานระบบคลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ตอนนี้หลายบริษัท ๆ หันมานิยมใช้ไฮบริดคลาวด์ เพราะเป็นรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อนโยบายการทำงานจากที่บ้าน” นางสาว วิไลพร กล่าว
นางสาว วิไลพร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันตัวเลือกผู้ให้บริการระบบคลาวด์มีเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ที่มีเพียงค่ายยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและมีบริการไม่กี่ประเภท เช่น อีเมล หรือ แอปพลิเคชันสำหรับงานในออฟฟิศ อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังมีผู้ให้บริการจากจีนและในไทยเองให้เลือกใช้ และครอบคลุมบริการเกือบทุกประเภท
สำหรับประเภทของการใช้งานคลาวด์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้
1)บริการเฉพาะของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอที เช่น เซิร์ฟเวอร์ ระบบจัดเก็บ และระบบจัดการเครือข่าย
2) บริการระบบงานแพลตฟอร์มบนคลาวด์ เช่น ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ระบบบัญชี และระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management: CRM)
3) บริการระบบซอฟต์แวร์สำหรับผู้ใช้งานบนคลาวด์ เช่น อีเมล แอปพลิเคชันในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ภายในองค์กร หรือ การประชุมผ่านเสียง หรือวิดีโอ
4) บริการระบบงานคลาวด์ในระดับฟังก์ชัน เช่น โปรแกรมต่าง ๆ
ธุรกิจบริการทางการเงิน-ค้าปลีกจำเป็นต้องใช้คลาวด์
นางสาว วิไลพร คาดว่า ธุรกิจบริการทางการเงินและธุรกิจค้าปลีกของไทยจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มลงทุนในระบบคลาวด์มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในปีนี้ เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคของทั้ง 2 ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยทั้งผู้บริโภคและลูกค้าของธนาคารต้องการจับจ่ายใช้สอย หรือทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สะดวกและมีความหลากหลายในทุกช่องทาง
นอกจากนี้ ข้อมูลจากการ์ทเนอร์ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2564 แนวโน้มการใช้จ่ายไอทีทั่วโลกจะแตะ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน โดยระบุว่า ผู้ให้บริการคลาวด์น่าจะเห็นรายได้เพิ่มขึ้นในปีนี้หลังจากคลาวด์ได้รับความนิยมอย่างมากในปีที่ผ่านมา
หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไป นางสาววิไลพร ยังคาดการณ์ด้วยว่า น่าจะเห็นแนวโน้มการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินและธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลการเงินของสถาบันการเงินต่าง ๆ (Open Banking) ที่ปลอดภัย โดยสามารถเปิดเผยข้อมูลทางธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าให้บุคคลที่ 3 เช่น สถาบันการเงิน ฟินเทค หรือ บริษัทเทคโนโลยีและไอทีอื่น ๆ เข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้หากได้รับการยินยอมผ่านการเปิดช่องทางการเชื่อมต่อของข้อมูล (Application Programming Interface: API) ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมต่อกับบริการทางการเงินอื่น ๆ เพื่อสร้างบริการใหม่ให้แก่ลูกค้า