ธ.ก.ส.ทุ่ม 3 พันล้านเข็น2โครงการอุ้มลูกหนี้ดี-เลว

ธ.ก.ส.จะสำรวจสถานะของลูกหนี้กว่า 4.2 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 14 ล้านคน ที่ของธนาคารพักหนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ กำลังจะครบกำหนดการพักหนี้ 1 ปี ในต้นปีหน้า เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นไปถึงต้นปี2565 จากจำนวนเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.ทั้งหมด 7.5 ล้านคน

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การสำรวจสถานะของลูกหนี้ในครั้งนี้ เป็นการเดินเครื่องครั้งที่ 2 หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดครั้งแรกผ่านพ้นไป โดยผลสำรวจในครั้งนั้นระบุว่า มีลูกหนี้ที่พักหนี้ ที่พร้อมกลับมาชำระหนี้เหมือนเดิม หรือสีเขียว 23% ลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระ 15 เดือน (ฤดูกาลภาคเกษตร) ประมาณ 61% และลูกหนี้ไม่มีโอกาสหรือหมดหนทางในการชำระหนี้ 16%
“ผลการสำรวจในครั้งแรก ถือว่า ออกมาดีมาก เพราะคาดว่า ในจำนวนสีเขียว และสีเหลือง จะมีความสามาถในการชำระหนี้ 87% แต่เมื่อเกิดการระบาดอีกครั้ง เราก็ไม่แน่ใจว่า ลูกหนี้ที่ดี จะได้รับผลกระทบมาก น้อยแค่ไหน ส่วนสีแดงนั้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีความสามารถในการชำระหนี้”
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ประกาศให้เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ 1 ปี แบบอัตโนมัติ (ทุกราย) แต่ล่าสุด ธปท.ได้ประกาศให้ธนาคารทยอยยกเลิกมาตรการดังกล่าว ภายในสิ้นปีนี้ โดยในปีหน้าการให้สิทธิ์ในการพักชำระหนี้ การแก้ไขหนี้ลดต้น ลดดอกเบี้ย จะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารแห่งละแห่ง
การหารือกับ ธปท.ล่าสุด ทำให้ ธ.ก.ส.ต้องออกสำรวจความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ เราได้ออกมาตรการคู่ขนาดเพื่อแก้ไขหนี้ มูลค่า 3,000 ล้านบาทควบคู่กันไป ประกอบด้วย
1) โครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ปกติ และไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน15 เดือน ซึ่งต้องมีหนี้คงเหลือ ณ 31 ต.ค.2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ย ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อชำระจะได้รับคืนดอกเบี้ยโดยการโอนคืนเข้าบัญชีเงินฝากของลูกค้าในวันถัดไปหลังจากวันที่ชำระหนี้ กรณีเป็นเกษตรกร และบุคคล จะได้รับเงินคืนในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกิน รายละ 5,000 บาท และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร %สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับเงินคืนในอัตรา 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินรายละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 – 31 มี.ค. 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ
และ 2.โครงการลดภาระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ค้างชำระหรือสถานะหนี้ปกติที่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ซึ่งต้องมีหนี้คงเหลือ ณ 31 ต.ค.2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาลดภาระหนี้ด้วยการตัดชำระต้นเงิน และหลังจากตัดชำระหนี้แล้ว มีเงินคง เหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรในวันถัดไป ซึ่งในกรณีลูกค้าเกษตรกรและบุคคล จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่จำกัดวงเงินที่จะคืน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 – 31 มี.ค.2564

ทั้งนี้ หลังการชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะส่งข้อความ SMS ให้เกษตรกรลูกค้าได้รับทราบเมื่อมีการโอนเงินเข้าบัญชี เงินฝากและกรณีที่เกษตรกรลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect จะได้รับข้อความแจ้งเตือนผ่าน LINE Official BAAC Family เช่นกัน หากเกษตรกรลูกค้าต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ Call Center 02 555 0555 หรือที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
นายกษาปณ์ กล่าวว่า วงเงินภายใต้ 2 โครงการดังกล่าว ธ.ก.ควักเนื้อของตัวเองเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ดังนั้น วงเงินที่ตั้งไว้หากหมดลงแล้ว จะต้องเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาว่า จะเพิ่มวงเงินให้หรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้น ได้กำหนดกติกาเอาไว้ว่า เกษตรกรคนใดมายื่นเรื่องทำเอกสารกับธนาคารก่อน จะได้เข้าร่วมโครงการเป็นอันดับ เรียกกว่า “มาก่อนได้ก่อน”
โดยเกษตรกรคนใดสะดวกให้รีบไปติดต่อที่สาขาของธนาคารใกล้บ้าน โดยล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 500,000 ราย มูลหนี้ 5,000 ล้านบาท ธนาคารคืนดอกเบี้ยให้ไปแล้ว 700 ล้านบาท
ขณะที่ การปล่อยสินเชื่อในปีนี้ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 155,000 ล้านบาท แต่ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 73,000 ล้านบาท จึงเหลือระยะเวลาอีก 3 เดือนถึงจะปิดปีบัญชีของธนาคารในเดือนมี.ค. ซึ่งคาดว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน และล่าสุด บอร์ด ธ.ก.ส.จะพิจารณาปรับลดเป้าลงในเดือนม.ค.ปีหน้า