กนง.คงดอกเบี้ยที่ 0.5%-เพิ่มเป้าจีดีพีปีนี้เป็น-6.6%
บอร์ด กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เป็น -6.6% ดีกว่าเดิมที่คาด -7.8%
“คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ จึงต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งเป็นเหตุผลหลักในการคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.แถลงผลการประชุม กนง.ซึ่งครั้งสุดท้ายของปีนี้ว่า คณะกรรมการฯมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้กรรมการลาประชุม 1 ราย และยังเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
ทั้งนี้ในส่วนของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว -6.6% ในปี 63 ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น และกลับมาขยายตัวที่ 3.2% ในปี 64 และ 4.8% ในปี 65 แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะสั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ในระยะถัดไป ขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 และพัฒนาการของตลาดแรงงาน ซึ่งยังมีจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่แตกต่างกันของแต่ละภาคเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่ยังคงมีความเปราะบางในภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 64 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ส่วนสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็ว จากสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุน (risk-on sentiment) และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิด และพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการเห็นด้วยว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทาน เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น