สมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดธุรกิจปี 64 โต 0-5%

สมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 63 เติบโต 2.5-3.5 % ผลจาก Covid-19 ดันประกันภัยสุขภาพ และกระตุ้นการซื้อประกันออนไลน์ ส่วนปี 64 คาดโต 0-5.0% โดยช่องทางการขายประกันภัยผ่านอินเทอร์เน็ตเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แนะบริษัทสมาชิกปรับตัวให้ทันกับยุควิถีใหม่

การระบาดของไวรัสโควิค-19 รอบใหม่ ส่งผลดีต่อธุรกิจประกันภัย คาดว่าจะทำให้ธุรกิจปี2564 ขยายตัวอยู่ในช่วง 0-5% โดยมีโอกาสที่จะเติบโตได้ถึง5% หากการแพร่ระบาดยังมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ในปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่ธุรกิจประกันวินาศภัยต้องฝ่าฟันกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง 6.7%

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย รวม 9 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ยังคงมีการเติบโต 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 184,368 ล้านบาท โดยการประกันภัยแต่ละประเภทยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ในขณะที่การประกันภัยการเดินทางเติบโตติดลบ เนื่องจากได้รับผลกระทบทางลบจากการระบาดของโรค COVID-19
ส่วนแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2563 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.5-3.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 250,000-252,600 ล้านบาท เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เกิดการใช้จ่าย การผลิต การจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้มีการขยายตัวของการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งกำลังซื้อรถยนต์บางส่วนในช่วงปลายปีจากโปรโมชั่นในงานมหกรรมยานยนต์

สำหรับปี 2564 คาดการณ์ว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยจะเติบโตเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563
ทำให้คาดการณ์ว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2564 จะมีโอกาสขยายตัวประมาณ 0-5.0% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 250,000-262,500 ล้านบาท โดยในปี 2564 การประกันภัยสุขภาพไม่รวมส่วนของการประกันภัย COVID-19 น่าจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นจากความตื่นตัวในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ ส่วนการประกันภัยการเดินทางจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563
อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ด้าน อาทิ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศและต่างประเทศ (มีการระบาดลดลง หรือมีการระบาดระลอกใหม่) ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 และการเข้าถึงวัคซีน มาตรการการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.

นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในยุควิถีชีวิตใหม่ (New Normal) นั้น มีสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่หลายเรื่อง เช่น เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระเบียบและกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการปรับตัวของธุรกิจ การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ การเพิ่มขึ้นของจำนวนภัยพิบัติและความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) การฉ้อฉลประกันภัยในรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการดำเนินชีวิต (Lifestyle) ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใหม่ที่เรียกว่า “VUCA World” ซึ่งเป็นโลกที่มีความผันผวนสูง ยากต่อการคาดเดา ไม่ทันตั้งตัว (Volatility) มีความไม่แน่นอนสูง ขาดความชัดเจน (Uncertainty) มีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ (Complexity) มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนสูง ยากที่จะคาดเดาผลลัพธ์ (Ambiguity) ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยที่จะอยู่รอดได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ทบทวนตัวเอง และปรับตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในปี 2564 สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินการจัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยได้คัดเลือกจังหวัดปทุมธานี ให้เป็นจังหวัดนำร่องและต้นแบบในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยมีแนวทางการดำเนินการร่วมกัน ดังนี้
1. โครงการรณรงค์สวมหมวกกันน็อค 100% ในพื้นที่โรงงาน สถานประกอบการ โรงเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆ โดยการจำหน่ายให้กับประชาชนได้ซื้อและสวมใส่ในราคาถูกกว่าท้องตลาด 2. การจัดทำวงเวียนเพื่อลดอุบัติเหตุตามจุดเสี่ยงต่างๆ และ 3. ปรับปรุงข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนผ่าน www.Thairsc.com ของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ให้มีความน่าสนใจ และเข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำข้อมูลไปใช้อ้างอิงและเกิดประโยชน์ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุได้ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวนี้ ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายเป็นที่น่าพอใจจะได้ดำเนินการขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป